“ตรีนุช”นำทีมดูการจัดอาชีวะตามแนวพระราชดำริกรมสมเด็จพระเทพฯ

รมว.ศึกษาธิการ นำทีมดูงานการจัดการอาชีวศึกษา ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา “คุณหญิงสุมณฑา” อธิการบดี ชี้โควิด-19 เป็นยุคทองของอาชีวะ

วันที่19 พ.ย. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย ดร.สิริกร มณีรินทร์ อดีต รมช.ศธ. , ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมคณะ ได้เดินทางไปที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า กรุงเทพฯ  เพื่อดูงานการจัดการอาชีวศึกษา ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ให้การต้อนรับ นำชมวิดีทัศน์แนะนำสถาบัน ชมงานนิทรรศการ Virtual Exhibition 2021 แสดงผลงานของอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา คณะเทคโนโลยีดิจิทัล สำนักวิชาศึกษาทั่วไป โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ คณะบริหารธุรกิจ และคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

โดย รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา กล่าวว่า  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริ จัดตั้งโรงเรียนจิตรลดา(สายวิชาชีพ)โดยใช้หลักสูตรอาชีวศึกษาที่เป็นหลักสูตรเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  โดยเน้นเรียนการปฏิบัติและทำงานได้จริง ต่อให้เด็กที่เรียนอ่อนที่สุดก็ต้องสร้างอาชีพเพื่อให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ , มีนักจิตวิทยาและแพทย์เข้ามาช่วยดูแลจิตใจ , จัดการเรียนการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน ( Project-Based )ให้มากที่สุด , จัดการเรียนการสอนเน้นการใช้ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และภาษาที่ 3 คือ ภาษาจีน เยอรมัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส โดยเลือกเรียนตามความสนใจนักเรียนนักศึกษาต้องมีภาษาที่ดี สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการจัดอาชีวศึกษาร่วมกับภาคเอกชนในระบบทวิภาคี ทั้งนี้ ช่วงโควิด-19 เป็นยุคทองของอาชีวะ เพราะทั้งนักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการมีอาชีพ

ด้าน น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า จากที่ตนไปร่วมประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 41 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อเร็วๆนี้ มีความเห็นเช่นเดียวกันว่าโลกตอนนี้เปลี่ยนไป เด็กอาชีวศึกษาสามารถเรียนแล้วไปทำงานต่อได้เลย อาชีวศึกษาสามารถตอบโจทย์การเรียนที่เปลี่ยนไป ทั้งนักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการมีอาชีพ เป็นโอกาสที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้เพิ่มจำนวนผู้เรียนสายอาชีพได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้เด็กอาชีวศึกษาของ สอศ.อาจจะยังติดเรื่องภาพลักษณ์อยู่บ้าง ซึ่งวงการอาชีวศึกษาในปัจจุบันได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเป็นบุคลากรที่มีสมรรถนะสูงแล้ว โดย ศธ. จะต้องเน้นทำความเข้าใจกับสังคมเพิ่มขึ้นต่อไป.