สธ. เน้นความสะอาด 5 จุดสัมผัสส้วมสาธารณะ ลดเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 พร้อมพัฒนาส้วมให้ครอบคลุม ทุกครัวเรือน

​กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2564 (World Toilet Day 2021) เพื่อพัฒนา ส้วมสาธารณะทุกประเภทให้สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรม การใช้ส้วมที่ถูกต้อง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

​วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2564 (World Toilet Day 2021) ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ว่า วันส้วมโลกในปีนี้ องค์การส้วมโลก (World Toilet Organization) ได้กำหนด Theme การรณรงค์ คือ “Valuing Toilets” เพื่อให้ทุกคนเห็นคุณค่าของห้องส้วม ตระหนักถึงความสำคัญที่ต้องพัฒนาปรับปรุงส้วม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคนได้ใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัยอย่างเท่าเทียมกัน และพึงตระหนักว่ายังมีอีก 3,600 ล้านคน ทั่วโลกยังไม่มีส้วมใช้ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะตัวแทนการรณรงค์วันส้วมโลกในประเทศไทย จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2564 โดยมุ่งพัฒนาความครอบคลุมให้คนไทยมีส้วมใช้ทุกครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีส้วมครัวเรือน ร้อยละ 99.8 ยังไม่มีส้วมอีก ร้อยละ 0.2 อยู่กระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จึงเป็นความท้าทายของประเทศไทยที่ต้องก้าวผ่านเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ ทุกคนเข้าถึงสุขอนามัยที่พอเพียง เป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่งให้ได้ภายในปี 2573 โดยกระตุ้นการดำเนินงานเพื่อพัฒนาส้วมสาธารณะ ทุกประเภทให้สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้องและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งส่งเสริมผู้ให้บริการส้วมสาธารณะประเมินมาตรฐานส้วมสาธารณะไทย (HAS) จากเว็บไซต์ stopcovid.anamai.moph.go.th หากผ่านเกณฑ์ประเมินตามมาตรฐานจะเป็นการสร้างความมั่นใจ ให้กับผู้ใช้บริการส้วมอีกด้วย

 

ทางด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การพัฒนาส้วมสาธารณะ ในสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่ราชการ สถานศึกษา โรงพยาบาล ศาสนสถาน ตลาดสด แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร สถานีบริการเชื้อเพลิง สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานีขนส่ง และริมทางสาธารณะ ให้ได้มาตรฐาน ด้านความสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย ในภาพรวมผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 72 ในขณะที่ส้วมในศาสนสถาน ผ่านเกณฑ์ เพียงร้อยละ 48 ซึ่งจากการเฝ้าระวังด้านความสะอาด โดยสุ่มตรวจการปนเปื้อนบริเวณจุดสัมผัสต่างๆ ภายในห้องส้วมสาธารณะ พบว่า ส้วมในวัด ตลาด สถานีบริการเชื้อเพลิง เป็นส้วมที่มีการปนเปื้อนมากที่สุด ส่วนบริเวณ ที่มีความสกปรกและมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคมากที่สุด ได้แก่ ที่รองนั่ง ร้อยละ 37 ที่จับสายฉีดชำระ ร้อยละ 33 และ ก๊อกน้ำ ร้อยละ 21 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเน้นการทำความสะอาดให้ทั่วถึงและเพิ่มความถี่เมื่อมีผู้ใช้บริการมากขึ้น ผู้ให้บริการต้องพัฒนาและปรับปรุงส้วมให้คงมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง และมีผู้รับผิดชอบในการทำความสะอาดเป็นประจำ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย

 

​“สำหรับผู้ใช้บริการ ต้องมีพฤติกรรมอนามัยในการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง โดยปิดฝาโถส้วมก่อนกดชักโครกทุกครั้ง ป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค เว้นระยะห่างในขณะรอใช้ส้วมสาธารณะ 1 – 2 เมตร ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วม แบบนั่งราบ เพราะจะทำให้โถหรือขอบโถแตกหัก หรืออาจพลาดตกลงมาจนเกิดการบาดเจ็บได้ นอกจากนี้ ก่อนใช้ส้วม ทุกครั้ง ให้เช็ดฆ่าเชื้อก่อนนั่งลงบนโถส้วม ไม่ทิ้งวัสดุใด ๆ ลงในโถส้วม ที่สำคัญ ควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดอย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้งหลังใช้ส้วม เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***
กรมอนามัย / 19 พฤศจิกายน 2564