กระทรวงสาธารณสุข เร่งเชิงรุกฉีดวัคซีนโควิดคนไทย 11 ล้านคน ทันสิ้นปีนี้

กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมรับ “เปิดประเทศ” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยประชาชนได้รับวัคซีนแล้ว 86 ล้านโดส ประกาศเร่งเชิงรุกฉีดเข็มแรกให้ 11 ล้านคนที่ยังไม่เข้ารับวัคซีนภายในเดือนธันวาคม

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศ และรองรับการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมในการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ในรูปแบบ Onsite ณ ศูนย์ประชุมโรงแรมเทพนคร อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 200 คน และออนไลน์จำนวน 400 คน

นายอนุทิน กล่าวว่า จากรายงานประจำวันเห็นได้ว่าประเทศไทยควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ประชาชนได้รับวัคซีนแล้ว 86,000,000 โดส ยืนยันว่าปีนี้มีวัคซีนอย่างเพียงพอ สำหรับปีหน้าคาดว่าจะมีวัคซีนอย่างน้อย 90,000,000 โดส วัคซีนแอสตราเซเนก้า 60,000,000 โดส และวัคซีนไฟเซอร์ 30,000,000 โดส ไม่รวมวัคซีนโปรตีนโนวาแวกซ์ วัคซีนที่ทางองค์การเภสัชกรรม และวัคซีนคณะแพทย์ที่กำลังพัฒนากันอยู่ เพื่อให้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 กันถ้วนหน้า พร้อมกับการสำรวจภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจว่า การได้รับวัคซีนจะช่วยไม่ให้อาการของโรคทวีความรุนแรง และทำควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ขั้นสูงสุด (แบบครอบจักรวาล) หรือ Universal Prevention เพื่อให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

“เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ได้รับข่าวว่า รัฐบาลฝรั่งเศสบริจาควัคซีนไฟเซอร์ 400,000 โดส พร้อมส่วนผสมและไซลิงค์ให้กับไทย ซึ่งจะมีการจัดสรรวัคซีนต่อไป พร้อมกันนั้นต้องดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่แสดงความห่วงใยต่อคนไทย 11,000,000 คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก ด้วยความเชื่อ ความจำเป็น หรือเหตุสุดวิสัย ทางกรมควบคุมโรค สาธารณสุขจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องทำงานเชิงรุกให้ประชาชนได้รับวัคซีนไม่เกินเดือนธันวาคม ตามสโลแกนที่ว่า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ใช้มาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ในกรณีที่ตรวจด้วยชุด ATK ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการให้ประชาชนดูแลที่บ้าน (Home Isolation) พร้อมด้วยการดูแลในระบบชุมชน (Community Isolation) ช่วยให้ควบคุมสถานการณ์ได้ จากการทำงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเรื่องเวชภัณฑ์และยา ตามที่นายกรัฐมนตรีดำริไว้ให้คนไทยเข้าถึงยารักษาโควิด 19 ในทุกตระกูล และขอให้ทุกท่านร่วมมือร่วมใจกันใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์โควิด 19 ลดความรุนแรงจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวรายงานว่า เนื่องจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดี รัฐบาลจึงได้ประกาศนโยบายเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมความพร้อม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดทำแผนปฏิบัติการ รองรับการเปิดประเทศ และการระบาดโควิด 19 พ.ศ. 2565 ด้านสาธารณสุขขึ้น กำหนดทิศทางของแผนไว้ 4 เป้าหมาย 5 กลยุทธ์ และ 6 ตัวชี้วัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตลอดจนเสริมสร้างสังคมและวัฒนธรรม และเพื่อให้แผนปฏิบัติการฯ เป็นกลไกในการบริหารจัดการแบบบูรณาการ ร่วมกับภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด ศบค. ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำไปพัฒนาแผนปฏิบัติการฯ ของแต่ละจังหวัดให้สมบูรณ์ เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ต่อไป

*************************