รู้ไว เลิกได้ ไม่เหนื่อยหอบ

โรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคที่เกิดจากสาเหตุหลายประการ แต่สาเหตุหลักที่พบมากกว่า 90 % นั้น เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่  ส่วนสาเหตุอื่น ๆ อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบอาชีพ เช่น เกษตรกร ที่อาจจจะมีการเผาฟาง เผาหญ้า หรืออาชีพที่ต้องได้รับควันพิษ ไอพิษ จากสารเคมีต่าง ๆ ซึ่งโรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะเป็นไปตลอดชีวิต รักษาไม่หาย จึงนับว่าเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก 

ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลกและองค์การโรคถุงลมโป่งพองโลกจึงได้กำหนดให้ทุกวันพุธสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันรณรงค์โรคถุงลมโป่งพองโลก (World COPD Day) ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงพิษภัยของโรคถุงลมโป่งพองและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคนี้

รศ. นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า โรคถุงลมโป่งพองนั้นเกิดจากการสูบบุหรี่ถึง 90 % อีก 10% เกิดจากการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพที่ได้รับควันพิษ ไอพิษ สารเคมี ฝุ่นแป้ง หรือแม้แต่ PM2.5 ในปริมาณมากน้อยและต่อเนื่องเพียงใด  ดังนั้น ถ้าหากสามารถเลี่ยง หรือควบคุมปริมาณและระยะเวลาในการรับควันหรือไอพิษเหล่านั้นให้เหมาะสม ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้

รศ. นพ.สุทัศน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการรับควันบุหรี่มือสองอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานนั้น ถือว่ามีโอกาสน้อยในการเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะเจ็บป่วยและเสียชีวิตอย่างรวดเร็วจากโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และเกิดกล้ามเนื้อหัวใจวาย รวมทั้งโรคมะเร็งด้วย

“คนที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองนั้น โครงสร้างของปอดจะถูกทำลาย เปรียบเสมือนกำแพงเมืองถูกทำลายลงบางช่วงบางตอน มีช่องโหว่ให้ข้าศึกหรือเชื้อโรคต่าง ๆ เข้ามาจู่โจมได้ง่าย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่สูบบุหรี่แต่ยังไม่เป็นโรคถุงลมโป่งพองมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนปกติหรือคนทั่วไปอย่างน้อย 5 เท่า  แต่คนที่สูบบุหรี่และป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองด้วยนั้น ยิ่งมีความเสี่ยงมากกว่านั้นไปอีก” รศ. นพ.สุทัศน์ กล่าว

อาการของโรคถุงลมโป่งพองที่สังเกตได้ ดังนี้

1.เหนื่อยง่าย เหนื่อยเร็วกว่าปกติ-หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ทัน ทำกิจวัตรประจำวันแบบเดิมที่เคยทำได้น้อยลง หรือทำได้เท่าเดิมแต่เหนื่อยง่ายขึ้น

2.ไอและมีเสมหะเรื้อรัง-เป็น ๆ หาย ๆ อย่างต่อเนื่องภายใน 2 ปี

หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษา โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง อย่างผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่ประกอบอาชีพที่สัมผัส ฝุ่น ควัน PM2.5 หรือสารเคมีที่เป็นไอระเหยอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด หรือภูมิแพ้และรับการรักษาอย่างดีมาโดยตลอด

วิธีดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคถุงลมโป่งพอง 

1.ไม่สูบบุหรี่ หรือเลิกบุหรี่โดยเด็ดขาด

2.งดสัมผัสสิ่งกระตุ้น หรือทำให้ระบบภูมิคุ้มกันระบบทางเดินหายใจอ่อนแอ เช่น ฝุ่น PM2.5, ควันไอเสียต่าง ๆ

3.สวมหน้ากากทุกครั้ง เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นควัน หรือต้องทำงานสัมผัสฝุ่นควันปริมาณมาก

4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

5.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

สุขภาพของเรา ใครจะดูแลได้ดีเท่าตัวเราเอง” เราต่างรู้ว่าพิษภัยของบุหรี่นั้นมีมากมายเพียงใด เพราะนอกจากบุหรี่จะทำลายสุขภาพของผู้สูบ เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคภัยต่าง ๆ ที่มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงแล้ว บุหรี่ยังทำร้ายคนที่อยู่รอบข้าง รวมทั้งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เลิกบุหรี่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน”

สำหรับท่านใดที่ต้องการเลิกบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงการป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ 1600 หรือหากไม่สะดวกใช้บริการทางโทรศัพท์ ก็สามารถเดินทางไปที่คลินิกฟ้าใส ซึ่งให้บริการคำปรึกษาเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ

นอกจากนี้ สสส. ยังร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ และกรมควบคุมโรค เพื่อที่จะพยายามผลักดันให้ยาเลิกบุหรี่ได้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้การเลิกบุหรี่เป็นไปได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น