จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับวัดโสธรวรารามวรวิหาร หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน กำหนดจัดงานนมัสการหลวงพ่อโสธร และงานประจำปีจังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปี 2564 โดยจัดภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระหว่างวันที่ 12 – 21 พฤศจิกายน 2564 ณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร และบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา
นายจิรศักดิ์ อ่วมอุไร ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานฉะเชิงเทรา กล่าวว่า งานเทศกาลกลางเดือนสิบสองวันขึ้น 8 ค่ำ ถึงวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 (เดือนพฤศจิกายน) ผู้ริเริ่มจัดงานกลางเดือน 12 คือโต้โผทรัพย์ เจ้าของละครคลองโสธร มูลเหตุมีอยู่ว่า ในปี พ.ศ. 2433 ประชาชนชาวโสธรประสบภัยข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง ข้าว และผลหมากรากไม้ไม่ได้ผล โรคห่า (อหิวาต์) และโรคพุพอง (ฝีดาษ) ระบาดไปทั่ว ผู้คนและสัตว์เลี้ยงล้มตายเป็นอันมาก ประชาชนทิ้งบ้านเรือนไร่นาเพื่อหนีโรคภัย ผู้เจ็บป่วยรอไม่ไหวก็รอวันตายเพราะหาหมอรักษาได้ยาก เมื่อถึงคราวเข้าตาจนเช่นนี้ บรรดาพุทธศาสนิกชนจะมีอะไรเป็นที่พึ่งยิ่งไปกว่าพระ ต่างคนจึงพากันบนบานต่อหลวงพ่อให้ช่วยลูกช้างด้วย บ้างก็ขอยาดีหลวงพ่อ คือขี้ธูปบ้าง น้ำมนต์บ้าง ดอกไม้ที่บูชาบ้าง รับมาทานมาทา บ้างก็บนบานว่า ถ้าหายแล้วจะปิดทอง บ้างก็บนบานด้วยละครและมหรสพสมโภช คนไทยบนด้วยลิเก และละครแก้บน ฝ่ายจีนก็บนงิ้ว ล่อโก๊ สิงโต ฯลฯ ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเป็นเรื่องมหัศจรรย์ยิ่งนัก จู่ ๆ ฟ้าฝนซึ่งแห้งแล้งอยู่นานก็โปรยปรายลงมา พาให้ประชาชนเบิกบาน แผ่นดินชุ่มชื่น โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ หายเป็นปลิดทิ้ง ชาวบ้านชาวเมืองจึงร่วมกับนายทรัพย์จัดงานฉลองสมโภชหลวงพ่อครั้งใหญ่เพื่อแก้บน จึงเกิดงานนมัสการ หลวงพ่อโสธรและงานประจำปี มีการเฉลิมฉลองเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดเป็นต้นมา โดยในปี 2564 เตรียมกิจกรรมที่แปลกใหม่ทั้งเกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและภาพลักษ์ของจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อีกด้วย
กิจกรรมในงานนมัสการหลวงพ่อโสธรฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 (แถลงข่าวการจัดงานนมัสการหลวงพ่อโสธรและงานประจำปีจังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปี 2564)
เวลา 15.30 น. หัวหน้าส่วนราชการ/สื่อมวลชน ลงทะเบียน ผู้มีเกียรติและผู้ร่วมงานพร้อมเพรียงกัน
เวลา 16.00 น. ประธานและคณะ เริ่มแถลงข่าว นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา
ผู้ร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย นายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัฉะเชิงเทรา นายจิรศักดิ์ อ่วมอุไร ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานฉะเชิงเทรา
พล.ต.ต.นันทวุฒิ สุวรรณละออง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทรา นายกลยุทธ ฉายแสง นายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา ผู้สื่อข่าวซักถาม/สัมภาษณ์ จบการแถลงข่าว
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 (ขบวนแห่หลวงพ่อโสธรทางบก)
เวลา 04.19 น. ถวายเครื่องราชสักการะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5และศาลพระภูมิ ด้านหน้าศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อความเป็นสิริมงคล
เวลา 05.09 น. ประกอบพิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองฉะเชิงเทรา บวงสรวงปู่ท้าวมหาพรหม
เวลา 06.09 น. บวงสรวงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์และประกอบพิธีบวงสรวงหลวงพ่อโสธรตามแบบโบราณประเพณีที่ปฏิบัติต่อกันมายาวนาน ประกอบด้วยเครื่องสังเวยชุดใหญ่ ไข่ไก่ต้ม จำนวน 119,999 ฟอง
สำหรับเส้นทางขบวนแห่องค์หลวงพ่อโสธรทางบกแบ่งเป็น 2 ช่วง
(ช่วงที่ 1) เวลา 07.49 น. จัดขบวนรถแห่หลวงพ่อโสธรองค์จำลอง เพื่อให้ประชาชนได้รับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์และรับสายสิญจน์ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว ตามด้วยรถประดับตกแต่ง
(ช่วงที่ 2) เวลา 16.29 น. เคลื่อนขบวนวงโยธวาทิตการแสดงของนักเรียนจากโรงเรียนในจังหวัดฉะเชิงเทรา การแสดงจากภาคเอกชน ปิดท้ายด้วยขบวนรถหลวงพ่อโสธร สิ้นสุดบริเวณหน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตลอดเส้นทางที่ขบวนอัญเชิญหลวงพ่อโสธรผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันตั้งโต๊ะบูชาถวายเป็นพุทธบูชา
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 (ขบวนแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำ) (ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ) ณ ท่าน้ำวัดโสธรฯ
เวลา 07.00 น. อัญเชิญหลวงพ่อโสธรองค์จำลอง ขึ้นเรือที่ประดับตกแต่งสวยงาม พร้อมขบวนเรือจากทุกอำเภอ และเรือของภาคเอกชนเข้าร่วมขบวนเรือ เพื่อความยิ่งใหญ่ สมเกียรติ ล่องไปตามลำน้ำมุ่งสู่ปากอ่าวไทย อำเภอบางปะกง จอดเทียบท่าต่างๆ รวมจำนวน 11 ท่า
วันที่19 พฤศจิกายน 2564 (ขบวนแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำ) (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 )
เวลา 06 00 น. ขบวนเรือหลวงพ่อโสธร ออกจากท่าน้ำวัดโสธร ฯ ล่องไปตามลำน้ำ มุ่งไปสู่อำเภอบางคล้าจอดเทียบท่าต่างๆรวมจำนวน 14 ท่า
วันที่ 12 – 21 พฤศจิกายน 2564 งานประจำปีจังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปี 2564 10 วัน 10 คืน
นอกจากมางานนมัสการหลวงพ่อโสธร และงานประจำปีจังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาสร้างสรรค์ประสบการณ์การท่องเที่ยวในรูปแบบ New Normal ด้วยแนวคิด “เที่ยวใกล้ เที่ยวง่าย ได้มาตรฐาน” เนื่องจากจังหวัดฉะเชิงเทรามีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ วัดหลวงพ่อโสธรวรารามวรวิหาร วัดสมานรัตนาราม อุทยานพระพิฆเนศคลองเขื่อน วัดพระธาตุวาโย นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชน โครงการพระราชดำริ โดยแหล่งท่องเที่ยวมีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวและยังได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า สัมผัสกับประสบการณ์ท่องเที่ยวในรูปแบบ New Normal ด้วยแนวคิด “เที่ยวใกล้ เที่ยวง่าย ได้มาตรฐาน”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดฉะเชิงเทรา หมายเลขโทรศัพท์ 0 3851 4794 หรือ ททท. สำนักงานฉะเชิงเทรา หมายเลขโทรศัพท์ 0 3851 4009