กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ผู้เป็นโรคเบาหวานกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ควบคุม ปริมาณอาหารประเภท ข้าว แป้ง และผลไม้หวานจัด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง ย้ำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกและสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อให้องค์กรสาธารณสุขทั่วโลกได้เห็นความสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวาน แม้โรคเบาหวาน จะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ถ้าคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักตัวได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้เป็นโรคเบาหวานสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีความสุข โดยผู้เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ตัว จนกว่าจะแสดงอาการ เช่น น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย แผลหายช้า อ่อนเพลีย ชาปลายมือปลายเท้า สายตาผิดปกติ ซึ่งเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง หากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน อาจเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา อาทิ หลอดเลือดหัวใจอุดตันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เบาหวานขึ้นจอประสาทตาจนทำให้ตาบอด โปรตีนรั่วในปัสสาวะจนนำไปสู่โรคไตเสื่อม หลอดเลือดสมองอุดตันหรือแตก ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และสตรีมีครรภ์ที่เป็นโรคนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ อาจเกิดการแท้งบุตรได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การควบคุมอาหาร โดยรู้จักเลือกกินอาหารที่เหมาะสมในปริมาณ ที่ถูกสัดส่วนกับความต้องการของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะยาเบาหวานโดยทั่วไปมีประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำตาลจากอาหารได้เพียง 45–60 กรัมต่อมื้อ คิดเป็นข้าวสวยไม่เกิน 3–4 ทัพพี เท่านั้น ในขณะที่อาหารตามสั่งทั่วไปอาจให้ข้าวมากกว่า 4 ทัพพี ซึ่งมีน้ำตาลมากกว่าที่ยาจะควบคุมได้ จึงควรเลือกเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท หรือธัญพืชไม่ขัดสี จะช่วยให้ได้รับใยอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลช้าลง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ยังจำเป็นต้องควบคุมปริมาณเช่นเดียวกับข้าวขาว จึงไม่ควรกินธัญพืชเพิ่มจากข้าว เช่น ข้าวกับผัดฟักทอง หรือ ข้าวกับผัดวุ้นเส้น เป็นต้น นอกจากนี้ ควรงดกินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ผลไม้หวานจัด น้ำหวาน น้ำอัดลม ควรเลือกผลไม้ชนิดที่ไม่หวานจัดในปริมาณที่เหมาะสม เช่น กล้วย แอปเปิลเขียว ฝรั่ง ส่วนนมจืดนั้นไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน เนื่องจากนมวัวมีน้ำตาลตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่นเดียวกับนมไขมันต่ำพร่องมันเนย หรือนมไม่มีไขมัน ซึ่งลดเฉพาะปริมาณไขมันแต่มีน้ำตาลเหมือนเดิม สำหรับนมเปรี้ยวส่วนใหญ่จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณสูง จึงไม่ควรกินทุกวัน
“ทั้งนี้ การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สามารถลดปริมาณการใช้ยาหรือการฉีดอินซูลินได้ ควรออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงกระแทก หรือมีแรงกระแทกต่ำ เช่น เดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หรือเลือกความหนักของการออกกำลังกายที่เหมาะสม หากมีอาการเหนื่อย ให้ลดความเร็วลงหรือหยุดพักแล้วค่อยเดินต่อ ไม่ควรเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว ไม่ควรเดินเท้าเปล่า เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย หมั่นตรวจดูแลสุขภาพเท้าเป็นประจำ ไม่ให้เกิดแผล ไม่ควรออกกำลังกายในที่ร้อนจัดหรือชื้น ให้จิบน้ำเป็นระยะ ทุก 10 – 15 นาที ที่สำคัญ ควรระวังระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้เป็นเบาหวานที่ใช้ยาฉีดอินซูลิน ควรมีระดับน้ำตาลในช่วง 100 – 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ให้ตระหนักตนเองว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อ การเป็นโรคเบาหวาน จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกปี เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ถือเป็นการเฝ้าระวังสุขภาพตนเองอีกทางหนึ่งด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
กรมอนามัย / 12 พฤศจิกายน 2564