เปิดกองถ่ายหนัง 13 หมูป่า “Thai Cave Rescue” ให้ผู้บริหาร วธ. เยี่ยมชมการทำงานคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ณ The Studio Park จังหวัดสมุทรปราการ เผยได้รับความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ภายใต้สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19
วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๓๐ น. นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ พร้อมด้วยคณะเข้าเยี่ยมชมการทำงานของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ เรื่อง Thai Cave Rescue ณ The Studio Park จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อรับทราบถึงวิธีการทำงานติดตามคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 32) กรณีมาตรการสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ โทรทัศน์ และวีดิทัศน์ และมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention for COVID – 19) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) รวมถึงเพื่อศึกษาเทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูด อาทิ ฉากภายในถ้ำและฉากใต้น้ำ และเยี่ยมชม The Studio Park ซึ่งถือเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์แห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดให้บริการถ่ายทำภาพยนตร์ โทรทัศน์ โฆษณา ฯลฯ แบบครบวงจร รวมถึงเปิดบริการแพร่ภาพการแข่งขันอีสปอร์ต และมีกองถ่ายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากต่างประเทศมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
นางยุพา กล่าวว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวสร้างขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ Netflix และ SK Global Entertainment ผู้ถือลิขสิทธิ์เรื่องราวชีวิตของผู้ประสบภัยกรณีถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ทั้ง 13 คน โดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตามมาตรา 16 และ 18 (1) แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นฝ่ายเลขานุการ ได้มีมติอนุญาตให้ Deep Dive Productions, LLC สหรัฐอเมริกา สร้างภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ เรื่อง Thai Cave Rescue ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2564 สถานที่ถ่ายทำคือ กรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง โดยมีทีมงานชาวต่างประเทศ เข้ามาทำงานในประเทศ 60 คน และจ้างทีมงานชาวไทยรวม 1,000 คน ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณในประเทศไทยทั้งสิ้น 830 ล้านบาท ซึ่ง วธ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ และเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในภาพรวมของประเทศ ได้รับทราบวิธีการทำงานของคณะถ่ายทำดังกล่าว ภายใต้สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ถือว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล(Universal Prevention) และ DMHTA เช่น ตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัย อย่างเคร่งครัด รวมไปถึงเทคนิคการสร้างฉากภายในถ้ำ และฉากใต้น้ำ ตลอดจนการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขตามที่หน่วยงานราชการกำหนด
ทั้งนี้ การเยี่ยมชมกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศและโรงถ่ายภาพยนตร์ระดับมาตรฐานสากลในครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทย และเป็นการส่งเสริมนโยบายสำคัญของรัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งผลักดันการใช้ ”Soft Power” ความเป็นไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของไทย เช่น ศิลปะการแสดง แฟชั่น อาหารไทยและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F โดยเฉพาะด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ภายใต้แบรนด์ Content Thailand
ปลัดวธ. กล่าวต่อไปว่า แม้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 วธ. จะเดินหน้าบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน สมาคมและผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) เน้นดำเนินงานที่สำคัญคือ การพัฒนาตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในประเทศ การส่งเสริมและพัฒนาตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทย โดยการเข้าร่วมงานเทศกาลและตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศในนามทีมประเทศไทย มีการเปิดการเจรจากับนักลงทุนทั่วโลกและจัดสัมมนาผ่านรูปแบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเยี่ยมชมกองถ่ายทำภาพยนตร์ในวันนี้ ทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยโดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจการผลิตภาพยนตร์และคอนเทนต์ต่างๆ รวมถึงบุคลากรฝ่ายการผลิตของไทยมีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากลที่กองถ่ายใหญ่ ๆ จากต่างประเทศไว้ใจและเป็นตัวเลือกระดับแรกๆ ในการใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ รวมถึงมาตรการจูงใจต่าง ๆ ที่คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติได้ผลักดัน อาทิ มาตรการคืนเงินสำหรับกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ (cash rebate) อัตรา15 – 20% และมาตรการอื่นๆ ได้ปรากฏผลสำเร็จเป็นรูปธรรมให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งวธ.ได้รับข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2564 (มกราคม – ตุลาคม) มีบริษัทภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยรวม 71 เรื่อง ในพื้นที่ 29 จังหวัด สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 3,452 ล้านบาท และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม วัฒนธรรมอาหาร ด้านแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการใช้จ่ายในธุรกิจสินค้าบริการอื่นๆ อีกมายมาย