วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต. ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต. อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ. ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ. ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภญ. สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และองค์การเภสัชกรรม โดย ภก. กิตติ ระหงษ์ ผู้อำนวยการกองการขายภาคเอกชน ฝ่ายการตลาดและการขาย ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานขยายผลตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชน ย่านบางกะปิ ลักลอบนำยาฟาวิพิราเวียร์ออกมาจำหน่ายนอกโรงพยาบาล โดยไม่ได้รับอนุญาต
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปคบ. และเจ้าหน้าที่ อย. ร่วมกันจับกุมเครือข่ายลักลอบขายยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ทางสื่อออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยผู้ต้องหาส่วนหนึ่งให้การว่า ยาดังกล่าวได้มาจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางกะปิ ซึ่งสั่งซื้อมาจากองค์การเภสัชกรรมในนามโรงพยาบาลแล้วนำออกมาจำหน่ายเพื่อหากำไร เจ้าหน้าที่จึงสืบสวนขยายผลถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งขบวนการนั้น
ในวันที่ 28 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปคบ. เจ้าหน้าที่ อย. และเจ้าหน้าที่ สบส. ได้นำหมายค้นศาลอาญาเข้าตรวจค้นโรงพยาบาลเอกชน ย่านบางกะปิ ผลการตรวจสอบพบหลักฐานเอกสารในการสั่งซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม แต่ไม่พบประวัติการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 แต่อย่างใด และจากการสอบสวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่พบว่า รพ. ดังกล่าว มีผู้ป่วยโควิดมารับการรักษาแต่อย่างใด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกผู้บริหาร รพ. มารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ฐานไม่จัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพและจำนวนที่กำหนด, มีการเปลี่ยนแปลงการประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
3. พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 ฐานประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต. อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ขอให้ใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเครื่องมือแพทย์ เพราะขณะนี้มีผู้ฉวยโอกาสนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีคุณภาพมาตรฐานมาหลอกขาย
พี่น้องประชาชนจำนวนมาก ควรเลือกซื้อจากร้านขายยาหรือร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ และขอเตือนผู้ที่กระทำฝ่าฝืนกฎหมายให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันทีเพราะท่านกำลังทำให้ผู้ป่วยโควิดหรือผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด เสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องหรือเสี่ยงแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น เจ้าหน้าที่ บก. ปคบ. จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด หากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ขอให้สถานพยาบาลทุกแห่งดำเนิน กิจการอย่างมีจริยธรรมและจัดหายาให้ผู้ป่วยให้เป็นไปตามกฎหมายอยางเคร่งครัดโดยจะจัดให้มีการส่งหนังสือเพื่อแจ้งไปยังสถานพบยาบาลทุกแห่งให้ตรวจสอบการจัดหาและการจ่ายยาให้ผู้ป่วยอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริต ส่วนการดำเนินคดีดังกล่าว กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและมาตรการทางปกครองต่อไป ทั้งนี้หากการกระทำผิดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับวิชาชีพใด กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะดำเนินการแจ้งไปยังสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป หากประชาชนพบเห็นการดำเนินการของสถานพยาบาลที่น่าสงสัยขอให้แจ้งสายด่วน สบส. 1426
ภญ. สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า อย. จะตรวจสอบรายงานการซื้อขายยาฟาวิพิราเวียร์ขององค์การเภสัชกรรมที่ขายให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของการขายว่ามีการรั่วไหลออกนอกระบบหรือไม่
หากตรวจพบว่ามีผู้ลักลอบนำยาไปขายนอกระบบจะดำเนินมาตรการทางกฎหมายและทางปกครองอย่างถึงที่สุด และขอย้ำกับประชาชนว่า อย่าซื้อยาฟาวิพิราเวียร์มาใช้เอง ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด 19 แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่ามีความจำเป็นที่จะต้องรับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ ไม่ใช่ผู้ป่วยโควิดทุกรายจำเป็นต้องรักษาด้วยยานี้ ซึ่งหากผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในระบบของรัฐที่จัดไว้ให้จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์อย่างทั่วถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย ส่งผลให้ใช้ยาไม่ได้ผลเมื่อเกิดการติดเชื้อ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556