การยาสูบฯ สนับสนุนภาคเอกชน บจ.เฮิร์บ เทรเชอร์ และ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ผนึกกำลังต่อยอดอุตสาหกรรมผลิตใบกัญชง ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบในไทย รวมถึงตั้งเป้าส่งออกไปต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท
วันที่ 15 ตุลาคม 2564 นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ประธานที่ปรึกษาการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านอุตสาหกรรมกัญชงแบบครบวงจรระหว่าง บริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ จำกัด โดย นางสาวรมย์ชลี จันทร์ประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ และ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ที่มี นายชาย วินิชบุตร กรรมการบริหาร ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม ชั้น 26 อาคารอิตัลไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ
นายภาณุพล กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ภาคเอกชนจะร่วมมือกันพัฒนาเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมการผลิตกัญชงแบบครบวงจร โดยในส่วนของยสท.ก็ต้องการเห็นความร่วมมือครั้งนี้ ถูกส่งต่อไปยัง “ต้นน้ำ” ด้วยการช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันของบุหรี่ต่างประเทศและอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ จนมีรายได้ที่ลดอย่างมาก ทั้งนี้ คาดว่าในจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบประมาณ 14,000 ครัวเรือน จะมีไม่ต่ำกว่า 10% ที่เข้าร่วมโครงการเพาะปลูกกัญชงกับภาคเอกชน
“ยสท.เองกำลังหารือกับกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดสรรงบประมาณมาเป็นทุนช่วยเหลือและสนับสนุนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ที่สนใจจะเปลี่ยนมาเพาะปลูกใบกัญชง คาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง” ประธานที่ปรึกษา กล่าว
ด้าน นายชาย กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทฯอยู่ในภาคอุตสาหกรรม และมีสายสัมพันธ์อันดีกับบริษัทต่างชาติในนิคมอุตสสาหกรรมโรจนะ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทอาหารเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ยา ฯลฯ ซึ่งมีความต้องการสารสกัด CBD จากกัญชง ที่มีคุณประโยชน์อย่างสูงต่อสุขภาพและเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกในอนาคต จึงทำให้สนใจจะร่วมมือกับบริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ฯ ในครั้งนี้
ขณะนี้ นางสาวรมย์ชลี กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทฯได้ร่วมมือกับเกษตรกรในหลายพื้นที่ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา เริ่มทำการเพาะปลูกกัญชงไปแล้ว โดยมีการวิจัยและนำเข้าสายพันธุ์ที่เหมาะกับแต่ละสภาพพื้นที่ไปให้เกษตรกรเพาะปลูก โดยจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่น สุโขทัย เพชรบูรณ์ นครนายก ปทุมธานี เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทฯมีแผนจะจัดทำโครงการคอนแทร็กฟาร์มมิ่งกับเกษตรกรเหล่านี้ เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้และการรับซื้อผลผลิตทั้งหมดจากเกษตรกร ขณะเดียวกัน บริษัทฯก็มีลูกค้าทั้งในและนอกประเทศที่ให้ความสนใจจะสั่งซื้อผลผลิตที่ได้จากใบกัญชงมาบ้างแล้ว
ส่วน นายคณวัตร จันทรลาวัณย์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ กล่าวเสริมว่า ปัจจัยที่บริษัทฯสนใจจะเข้าร่วมธุรกิจกับบริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ฯ เพราะ 1.บริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ฯ เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐในการเป็นผู้ผลิต วิจัย ต่อยอดใบกัญชงในเชิงอุตสาหกรรม รวมถึงส่งออกไปยังต่างประเทศเพียงรายเดียวในประเทศไทย 2.แผนการผลิตสารสกัด CBD ในเฟสแรกให้ได้ปีละ 9 ตัน ซึ่งสามารถจะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1000 ล้านบาท เนื่องจากราคาขายสารสกัด CBD ในต่างประเทศ หากเป็นค้าส่งจะอยู่ที่ 150,000 – 400,000 บาท/กก. และ 3.มีเป้าหมายสอดรับกับแนวทางใหม่ของบริษัทฯ ที่ต้องการจะขยายงานไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาตั้งแต่ระดับฐานราก
ทั้งนี้ บริษัทฯจะเข้าถือหุ้นในโครงสร้างใหม่ของบริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ฯที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 50 ล้านบาทในช่วงแรก โดยจะถือหุ้น 51% และกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมจะถือหุ้น 49%
“เนื่องจากเรามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น ที่มีความต้องการสารสกัด CBD จากกัญชงอยู่แล้ว โดยในเบื้องต้น คงจะส่งออกเป็นวัตถุดิบราว 70% ที่เหลือ 30% จะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่” นายคณวัตร กล่าวในที่สุด
อนึ่ง บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรพย์แห่งประเทศไทย ถึงเข้าถึงการถือหุ้นในกิจการของบริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา.