สนพ. ไอเดียเจ๋ง ปั้นแบรนด์ THE ENERGiST by EPPO

ครั้งแรก ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะองค์กรภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบายด้านพลังงาน เปิดเวทีพร้อมค้นหาต้นแบบแห่งความคิดสร้างสรรค์ไอเดียเชิงนโยบายนวัตกรรมพลังงาน และอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืนจากภาคประชาชน ผ่านโครงการ ‘THE ENERGiST by EPPO’ ที่ได้สร้างมิติใหม่ในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน เรียกได้ว่าเป็นนโยบายที่สร้างสรรค์ขึ้นจากภาคประชาชน หรือ Bottom Up Policy อย่างแท้จริงครั้งแรกของประเทศ

โครงการ THE ENERGiST by EPPO อยู่ภายใต้แนวทางด้านพลังงานไทยในอนาคต 7 ด้าน คือ เทรนด์การใช้พลังงานที่จะใช้ไฟฟ้ามากขึ้น (Electrification), เทรนด์การผลิตพลังงานแบบกระจายตัว (Decentralisation), เทรนด์การใช้เทคโนโลยีดิจิตอล และข้อมูล บิ๊ก ดาต้า (Digitisation and Big Data ), เทรนด์การใช้พลังงานที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonisation), เทรนด์การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ ปรับปรุง กฎ ระเบียบ เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมและการแข่งขันอย่างเป็นธรรม (Deregulation), เทรนด์การเชื่อมโยง และสร้างความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน (AEC Energy Connection), เทรนด์ด้านระบบขนส่ง และนวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Mobility and Transportation) สู่การมีส่วนร่วมระหว่างภาคประชาชน และบุคลากร สนพ. ในการร่วมกันออกแบบไอเดียเชิงนโยบาย พัฒนาต่อยอด เพื่อที่นำไปใช้ได้จริง ผ่านกระบวนการคัดสรรค์ เหลาคม และขายไอเดียเชิงนโยบาย (Hackathon, Workshop, Pitching) จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 300 คน จนได้ผู้ชนะ 2 นโยบายสุดท้าย ได้แก่ นโยบาย “One Province Once Power Plant (OPOPP) ” จากทีม OPOPP ภายใต้เทรนด์พลังงานด้าน Decentralization และนโยบาย “Green Logo ก้าวแรกสู่ตลาดเสรีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน” จากทีม EP Optimizers ภายใต้เทรนด์พลังงานด้าน Decarbonization

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 สนพ. ได้จัดงานแถลงข่าวและเสวนาเพื่อเผยแพร่ความสำเร็จของโครงการ THE ENERGiST by EPPO ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 สนพ. โดยมี นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และร่วมรับฟังการนำเสนอนโยบายของ 2 ทีม ตลอดจนร่วม รับฟังการสวนาในหัวข้อ “นโยบายพลังงานไทย กับการสร้างสรรค์จากฐานราก แบบ Bottom Up Policy” โดยมีผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน ดร. ทวารัฐ สูตะบุตร (ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน) ร่วมเสวนากับทีมผู้ชนะ อย่างเข้มข้นและชัดเจน

นอกจากจะเป็นการสร้างสรรค์นโยบายแบบ Bottom Up แล้ว ทั้ง 2 นโยบายถือได้ว่าเป็นนโยบาย  แห่งการสร้างสรรค์กระบวนการใหม่ (Redesign Process) ซึ่งต้องสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ในการเป็นนักพลังงานรุ่นใหม่ ที่ร่วมกันจุดประกาย ต่อยอดนโยบายทั้ง 2 นี้ ให้เกิดผลกระทบเชิงบวก เพื่อประเทศชาติของเราจะได้มีพลังงานที่มั่นคง ประชาชนมีความมั่งคั่ง และสังคมมีความยั่งยืนต่อไป

*******************