กรมเจรจาฯ เร่งให้ความรู้ผู้ประกอบการหลัง FTA อาเซียน-จีน คลอด “กฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เอฟทีเอ” ใหม่

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับกรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาเรื่อง “กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า ภายใต้ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-จีน ฉบับปรับปรุง” แก่ผู้ประกอบการในภูมิภาคต่างๆ ทั่วไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2562 กรมฯ นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสัมมนาเรื่อง “กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า ภายใต้ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-จีน ฉบับปรับปรุง” ณ จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องกันเป็นจังหวัดที่ 3 ต่อจาก นครพนม และกรุงเทพฯ สืบเนื่องจากเมื่อความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างอาเซียน-จีน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2548 กำหนดให้อาเซียนและจีนมีการลดภาษีศุลกากรระหว่างกัน จนถึงขณะนี้ทั้งสองฝ่ายได้มีการยกเว้นภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าระหว่างกันไปแล้ว ประมาณร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด รวมทั้งมีการกำหนดกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าสินค้าแต่ละรายการจะต้องมีที่มา หรือถิ่นกำเนิดอย่างไร จึงจะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลง

นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อการเจรจาเอฟทีเอมีผลใช้บังคับใหม่ๆ การกำหนดกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เอฟทีเอ เป็นแบบใช้กฎเดียวกันในสินค้าทุกรายการ ต่อมาได้เริ่มมีการจัดทำกฎเฉพาะรายสินค้า ครอบคลุมสินค้า 526 รายการ หรือประมาณร้อยละ 10 ของรายการสินค้าทั้งหมด และล่าสุดในปี 2559 ได้ตกลงที่จะขยายกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายไปยังสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น โดยสามารถหาข้อสรุปการขยายกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายให้ครอบคลุมสินค้า 2,045 รายการ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของรายการสินค้าทั้งหมด (5,387 รายการ) ได้เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ทำให้การพิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อที่จะลดภาษีศุลกากรระหว่างสมาชิกเอฟทีเออาเซียน-จีน มีความละเอียด และสอดคล้องกับกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันไปในแต่ละรายการสินค้ามากยิ่งขึ้น โดยในสินค้าที่พึ่งพาวัตถุดิบจากภายนอกภูมิภาคมาใช้ในการผลิต กฎถิ่นกำเนิดสินค้าใหม่นี้จะเพิ่มโอกาสให้ผู้ผลิตสามารถเข้าถึงวัตถุดิบจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในด้านต้นทุนและคุณภาพสินค้า ขณะที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในภูมิภาคได้ ก็จะกำหนดกฎถิ่นกำเนิดที่เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในประเทศสมาชิกได้ประโยชน์จากการลดเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกัน

“การจัดสัมมนาสัญจรในครั้งนี้ จึงมุ่งให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ที่ทำการค้ากับประเทศจีนสามารถเลือกวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่จะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้เอฟทีเอเมื่อส่งออกสินค้าไปจีนได้ ขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าสามารถเลือกนำเข้าสินค้าที่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้เอฟทีเอ นอกจากนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะใช้โอกาสดังกล่าว รับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนาในเรื่องประโยชน์และผลกระทบต่อการกำหนดกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะราย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเจรจาขยายรายการสินค้า และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป” นางอรมน กล่าว

ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยเป็นทั้งตลาดส่งออกและนำเข้าอันดับ 1 ในปี 2561 การค้ารวมระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 80,136 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 8.67 โดยไทยส่งออกสินค้าไปจีน 30,175 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีน 49,960 ล้านเหรียญสหรัฐ  โดยการค้าสองฝ่ายเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเออาเซียน-จีน โดยในปี 2549 เมื่อความตกลงมีผลใช้บังคับ มูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 25,332 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่า อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านศุลกากรภายใต้เอฟทีเอระหว่างไทย-จีน พบว่ายังอยู่ในระดับปานกลาง โดยในปี 2561 (มกราคม-พฤศจิกายน) ไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้เอฟทีเออาเซียน-จีน ในการส่งออกไปจีนมูลค่า 16,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 53.7 ของมูลค่าการส่งออกไปจีน และใช้สิทธิประโยชน์ในการนำเข้าจากจีนเป็นมูลค่า 12,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 24.4 ของมูลค่าการนำเข้าจากจีน จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องอัตราภาษีศุลกากร และกฎถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อจะได้ใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการทำการค้ากับจีนมากขึ้น จากเว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th  รวมทั้ง สามารถติดตามกำหนดการสัมมนาเรื่อง “กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า ภายใต้ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-จีน ฉบับปรับปรุง” ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดจัดขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่จังหวัดสงขลา

———————————-

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์