‘พาณิชย์’ ชูธงนำทีมประเทศไทยเข้าร่วมงาน Vibrant Gujarat Global Summit ครั้งที่ 9 ในฐานะ ประเทศพันธมิตร หวังต่อยอดเครือข่ายนักธุรกิจอินเดีย-ไทย ทั้งในระดับประเทศและระดับรัฐ และดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่ EEC
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 – 18 มกราคม 2562 ตนได้นำคณะภาครัฐและภาคเอกชนชั้นนำของไทย ได้แก่ บจก. แอ็ลไลด์ เม็ททัลส์ (ไทยแลนด์) บมจ. PTT Global Chemical บมจ. Double A บจก. SCG trading และบจก. พร้อมท์ กิจการค้า เข้าร่วมงาน Vibrant Gujarat Global Summit ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 16 – 18 มกราคม 2562 ณ รัฐคุชราต อินเดีย ซึ่งเป็นการเข้าร่วมงานในฐานะประเทศพันธมิตรเป็นครั้งแรก ตามคำเชิญของมุขมนตรีรัฐคุชราต โดยตนได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิด เน้นย้ำบทบาทของไทยในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ของอินเดีย เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างความเติบโตอย่างทั่วถึง ผลักดันความร่วมมือทั้งในภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งเชิญชวนนักธุรกิจอินเดียเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC เพื่อใช้ไทยเป็น Gateway สู่ภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่อินเดียมีศักยภาพ อาทิ เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม และเคมีชีวภาพ ทั้งนี้ ในงานดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 45,000 คน จากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในอินเดียและจากต่างประเทศ 135 ประเทศ อาทิ นายกรัฐมนตรีเช็ก นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก นายกรัฐมนตรีอุซเบกิซสถาน และรัฐมตรีจากประเทศต่างๆ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรต นามิเบีย เนเธอร์แลนด์ และโมร็อกโก นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการลงนามความร่วมมือด้านการลงทุนของนักลงทุนอินเดียและต่างชาติในรัฐคุชราตถึง 28,360 ฉบับ มูลค่าสูงกว่า 4.9 ล้านล้านรูปี หรือประมาณ 68,700 ล้านเหรียญสหรัฐ
ไทยในฐานะประเทศพันธมิตร ได้จัดงาน Thailand Pavilion นำเสนอศักยภาพของไทยอย่างรอบด้าน ครอบคลุมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทชั้นนำของไทยร่วมจัดแสดง อาทิ บมจ. อิตาเลี่ยนไทย บจก. ทอง การ์เดน และบมจ. ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ โดยได้พบปะกับผู้ประกอบการอินเดียและชาติอื่นๆ ที่สนใจจะเป็นตัวแทนจำหน่าย สำหรับธุรกิจไทยในอินเดีย นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังร่วมกับ BOI จัดสัมมนา Country Session เพื่อนำเสนอโอกาสและข้อเสนอสิทธิพิเศษการลงทุนในเขต EEC พร้อมทั้งนำเสนอไทยในฐานะจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพชาวอินเดีย โดยงานสัมมนาฯ มีนักธุรกิจอินเดียให้ความสนใจเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้กว่า ๒๕๐ คน
นางสาวชุติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้พบหารือกับมุขมนตรีรัฐคุชราต เพื่อร่วมหาแนวทางการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับรัฐให้มากขึ้น ซึ่งรัฐคุชราตถือเป็นรัฐต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจของอินเดีย (Gujarat Model) ที่เน้นการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ โครงสร้างพื้นฐาน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการจัดตั้ง one stop service ด้านการลงทุน คุชราตเป็นรัฐที่มีศักยภาพสูงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เวชภัณฑ์และยา และอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเมืองสำคัญของรัฐอย่างเมืองอาเมดาบัดเป็นแหล่งผลิตยาที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเมืองสุรัตยังเป็นแหล่งเจียระไนเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย นอกจากนี้ คุชราตยังมีศักยภาพในด้านอุตสาหกรรมแปรรูป อาหาร เนื่องจากมีชายฝั่งทะเลที่ยาวที่สุดในอินเดีย มีทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปที่ไทยมีความเชี่ยวชาญพิเศษ รวมทั้งเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าก่อสร้างและตกแต่งบ้าน เนื่องจากคุชราตอยู่ในช่วงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าสูงขึ้น พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดงาน Networking Reception เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการอินเดียกับผู้ประกอบการไทย ในสาขาสิ่งทอ ยาและเวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและวัสดุก่อสร้าง กระดาษและสิ่งพิมพ์ และค้าปลีก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน จากกว่า 50 บริษัท
ในปี 2561 (ม.ค. – พ.ย.) การค้าระหว่างไทยกับอินเดียมีมูลค่า 11,485.43 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.90 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกของไทยไปอินเดีย มูลค่า 7,002.95 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และการนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 4,482.48 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่น ๆ และเศษโลหะและผลิตภัณฑ์
—————————————-
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ