ผลประกอบการไตรมาส 4 และผลประกอบการปี 2561 ของ เอสซีจี เซรามิกส์ รายได้และกำไรลดลงเนื่องจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นเร่งสร้างความแข็งแกร่งด้วยกลยุทธ์การบริหารแบรนด์สินค้า ชูกระเบื้อง 3 แบรนด์หลัก คอตโต้ คัมพานา และโสสุโก้ ลงตลาดครบทุกช่องทางเจาะทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมบุกขยายตลาดในกลุ่มประเทศ CLM
นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์ “คอตโต้” (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของ COTTO ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,713 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง ร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไร 66 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 160 จากไตรมาสก่อน
สำหรับผลประกอบการในปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 11,557 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 ร้อยละ 11 มีกำไรสุทธิรวมจำนวน 10 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 566 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรง ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นและค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับแผนการออกจากงานด้วยความเห็นชอบร่วมกัน ค่าที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบการจัดการและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัท
ในปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้จากการส่งออก 2,534 ล้านบาท และรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 1,833 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีรายได้จากการส่งออก 527 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีปริมาณขายในภูมิภาคอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 ของปริมาณขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินทรัพย์รวมของ COTTO ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีมูลค่า 11,725 ล้านบาท
นายนำพล กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าไตรมาสที่ผ่านมาตลาดจะเติบโตขึ้น 1% จากราคาเกษตรที่สูงขึ้นและสัญญาณการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงแต่เมื่อมองในภาพรวมของทั้งปีจะเห็นว่าตลาดยังคงชะลอตัวอยู่ -2% ประกอบกับปัจจัยลบที่สำคัญคือต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ผลประกอบการของ COTTO ในไตรมาส 4 และโดยรวมปี 2561 มีรายได้ลดลง”
ดังนั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ในปีนี้ บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การบริหารแบรนด์สินค้าควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานและบริการของสินค้าทุกแบรนด์เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านดีไซน์ ความสวยงาม คุณภาพสินค้าและบริการที่เหนือกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าทั้งจากในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่มุ่งแข่งขันเรื่องราคาเป็นหลัก
ปัจจุบันสินค้ากระเบื้องเซรามิกของบริษัทมี 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ คอตโต้ คัมพานา และโสสุโก้ โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีไลฟสไตล์แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ
- คอตโต้ (COTTO)มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และความล้ำสมัยมีความสวยงามที่แตกต่างโดดเด่น เลือกสินค้าเพื่อสะท้อนตัวตนของผู้ใช้งาน
- คัมพานา (CAMPANA)เน้นความเรียบง่ายให้อารมณ์อบอุ่น และสวยงามแบบธรรมชาติ
- โสสุโก้ (SOSUCO) นำเสนอลวดลายที่มีความหลากหลายสำหรับพื้นที่ใช้สอยโดยทั่วไป เหมาะกับ
กลุ่มลูกค้าที่ชอบความสะดวกสบายและสินค้าที่ใช้งานง่าย
ในส่วนของการขยายตลาดในต่างประเทศ นายนำพล เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศ CLM หรือ กัมพูชา ลาว และพม่า โดยจะเน้นการวางรากฐานและระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฐานลูกค้าและเครือข่ายการจัดจำหน่ายเพื่อเพื่อความแข็งแกร่งของการขยายตลาดไปยังต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนงานที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มช่องทางการขายเพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงลูกค้าทุกระดับ โดยมีแผนงานเพิ่มสาขาพื้นที่ขาย “คลังเซรามิค” ในจุดที่ช่องทางจัดจำหน่ายในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมเป็น 100 สาขาภายใน 5 ปี เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ชอบความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าและต้องการสินค้าที่หลากหลายใช้งานง่าย ปัจจุบัน “คลังเซรามิค” มีสาขาที่เปิดให้บริการแล้วรวม 25 สาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ มีพื้นที่การขายเฉลี่ยของแต่ละสาขามากกว่า 1,200 ตารางเมตร ทำให้บริษัทฯ มีช่องทางจำหน่ายสินค้าครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพิ่มเติมจากการขายสินค้าผ่านผู้แทนจำหน่าย โมเดิร์นเทรด และ Flagship Store ที่ คอตโต้ สตูดิโอ เอสซีจี เอ็กซ์พีเรียนซ์ และ VOA Space ที่ จ.ขอนแก่น
“ในส่วนของการบริหารต้นทุน บริษัทฯ มีแผนงานเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิต โดยส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานในโรงงาน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการใช้พลังงานด้วย บริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์การแข่งขันรุนแรงในประเทศและสามารถรักษาความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจในประเทศไว้ได้เนื่องจากเรามีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งแผนงานระยะสั้นเพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแผนงานระยะยาวเพื่อมุ่งสร้างความแข็งแกร่งและหาแนวทางการเติบโตให้กับธุรกิจด้วย” นายนำพล กล่าวสรุป
สำหรับภาพรวมตลาดในปี 2562 มีปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเซรามิก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อาจทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของนักลงทุนภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ คาดว่าในปี 2562 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่สูงขึ้น จึงทำให้ความต้องการใช้สินค้ากระเบื้องเซรามิกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย โดยมีปัจจัยบวกที่เป็นโอกาสดีของธุรกิจวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะกลุ่มกระเบื้องปูพื้นและบุผนังจากโครงการ Mixed use หรือ การก่อสร้างเพื่อการพาณิชยกรรมภายใต้แนวคิดการรวมกันของกลุ่มผู้อยู่อาศัยและกลุ่มการค้าเพื่อการพาณิชย์ที่มีโครงการที่มูลค่าสูงกว่า 4 แสนล้านบาทซึ่งได้เริ่มทยอยก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไปยังพื้นที่ในเมืองอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ รวมทั้งนโยบายภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองโดยการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้แก่ผู้ที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ตลอดจนการปล่อยสินเชื่อพัฒนาโครงการให้แก่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อก่อสร้างบ้าน รวมถึงโครงข่ายคมนาคมรถไฟฟ้าและมอเตอร์เวย์ที่ทำให้การเดินทางออกสู่ชานเมืองและต่างจังหวัดสะดวกขึ้นยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์พื้นที่ชานเมือง ปริมณฑลและจังหวัดทางตะวันออก บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าปัจจัยบวกเหล่านี้จะส่งผลให้ภาพรวมของตลาดวัสดุก่อสร้างในปี 2562 มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น
SCG Ceramics
ก่อตั้งเมื่อเดือน สิงหาคม 2561 จากการควบ 5 บริษัทย่อยภายในเครือ SCG (The Siam Cement Group) ได้แก่ (1) บริษัทเซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด (“TCC”) (2) บริษัทเดอะ สยาม เซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด (“SGI”) (3) บริษัทโสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด (“SSG”) (4) บริษัทไทย-เยอรมัน เซรามิค อิน ดัสทรี่ จำกัด (มหาชน) และ (5) บริษัทเจมาโก จำกัด (“GMG”) โดย SCG CERAMICS ส่งผลให้เอสซีจี เซรามิกส์ กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกระเบื้องปูพื้นและบุผนังของประเทศ โดยมีฐานการผลิต ทั้งหมด 4 แห่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี มีกำลังการผลิตกระเบื้องสูงสุดรวมกันถึงปีละ 94 ล้านตารางเมตร ภายใต้ 3 แบรนด์หลัก คือ แบรนด์ “คอตโต้” (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA)