วันที่ (21 ม.ค. 62) เวลา 10.00 น. นางสาวอณิรา ธินนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานเปิดการอบรม เรื่อง “ทักษะการให้บริการและความช่วยเหลือคนพิการ สำหรับผู้ให้บริการรถยนต์สาธารณะ(TAXI)” รุ่นที่ 2 เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ ความเข้าใจการให้บริการ และความช่วยเหลือผู้โดยสารที่เป็นคนพิการโดยเฉพาะ พร้อมสาธิตการฝึกปฏิบัติต่อผู้โดยสารตามประเภทความพิการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วย ผู้ให้บริการรถยนต์สาธารณะ (Taxi) ได้แก่ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) บริษัท ไลน์คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ออลไทยแท็กซี่ จำกัด หน่วยงานภาคเอกชน คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 100 คน ณ โรงแรมเดอะเล็คกาซี่ จังหวัดนนทบุรี
นางสาวอณิรา กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานด้านคนพิการ นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของรัฐบาล โดยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสิทธิ โอกาส และความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมของคนพิการกับคนปกติทั่วไป ภายใต้แนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Leave no one behind) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม โดยใช้กลไกพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มาตรา 20 กำหนดให้คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ และกำหนดให้การเข้าถึงบริการสังคมของคนพิการเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้บูรณาการความร่วมมือกับองค์การต่างๆ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และองค์กรคนพิการ เพื่อขับเคลื่อนการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคาร สถานที่ราชการ โรงพยาบาล และพื้นที่สาธารณะต่างๆ สำหรับรองรับผู้สูงอายุ คนพิการ และทุกคนในสังคม ให้สามารถเข้าถึงบริการ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตประจำวันและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม และดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ
นางสาวอณิรา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันคนพิการยังพบปัญหาในการเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะในการเดินทาง ทั้งการใช้บริการรถสาธารณะ เช่น รถประจำทาง รถยนต์สาธารณะ (รถแท็กซี่) ที่มักปฏิเสธการให้บริการ รวมทั้งคนขับแท็กซี่ที่มีจิตอาสาการให้บริการ แต่ไม่ทราบวิธีการช่วยหรืออำนวยความสะดวกให้คนพิการ ดังนั้น กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและปัญหา จึงได้ร่วมกับบริษัท แกร็บ แท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ออลไทยแท็กซี่ จำกัด จัดการจัดอบรม “ทักษะการให้บริการและช่วยเหลือคนพิการ สำหรับผู้ให้บริการรถยนต์สาธารณะ (Taxi)” รุ่นที่ 2 เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ ความเข้าใจการให้บริการ และความช่วยเหลือผู้โดยสารที่เป็นคนพิการโดยเฉพาะ ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของ พก. ในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตในการเดินทางได้อย่างอิสระ มีความปลอดภัยในการเดินทาง และมีมาตรฐานในการให้บริการ ด้วยความร่วมมือจากภาคเอกชน และผู้ให้บริการรถยนต์สาธารณะ ที่เห็นความสำคัญและตระหนักถึงการจัดบริการและช่วยเหลือคนพิการในการเดินทางในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คนพิการสามารถเข้าร่วมกิจกรรมในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป
สำหรับกิจกรรมสำคัญในการอบรมในวันนี้ ประกอบด้วย การบรรยายเรื่อง ความรู้เกี่ยวกับคนพิการและความพิการ ปัญหาความต้องการของคนพิการกับการใช้บริการรถยนต์สาธารณะ (TAXI) การเดินทางของผู้โดยสารพิการเพื่อทำกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมทางสังคม แรงบันดาลใจแท็กซี่จิตอาสา และการแบ่งกลุ่มการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการและฝึกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือคนพิการประเภทต่างๆ ตามประเภทความพิการ ได้แก่ ด้านการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย ด้านการได้ยินหรือสื่อความหมาย และทางการเห็น
“ในนามของ พก. ขอขอบคุณบริษัท แกร็บ แท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ออลไทยแท็กซี่ จำกัด รวมทั้งผู้ให้บริการรถยนต์สาธารณะ (TAXI) ที่มีส่วนสนับสนุนในการจัดกิจกรรม ซึ่งถือเป็นโครงการฯ ต่อเนื่องจากการอบรม “ทักษะการให้บริการและความช่วยเหลือคนพิการ สำหรับผู้ให้บริการรถยนต์สาธารณะ(TAXI)” รุ่นที่ 1 ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ จึงมีการต่อยอดในรุ่นที่ 2 รวมถึงในวันพรุ่งนี้ (22 ม.ค. 62) จะมีการอบรมในรุ่นที่ 3 ต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ให้บริการรถยนต์สาธารณะ (TAXI) ได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะ มีความเข้าใจ การให้บริการ และการช่วยเหลือผู้โดยสารที่เป็นคนพิการ ได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมในผู้ให้บริการรถยนต์สาธารณะ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อคนพิการให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม” นางสาวอณิรา