ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ชี้ภาคอุตสาหกรรมไทยควรเร่งผนวกเทคโนโลยี Industrial Internet of Things (IIoT) ยกระดับสู่โรงงานอัจฉริยะ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนในการดูแลเครื่องจักรที่มีมูลค่าสูงถึง 2.06 แสนล้านบาทต่อปี เสนอแนะ 8 กลุ่มผู้ประกอบการส่งออก ซึ่งมีโรงงานรวมกันกว่า 17,290 แห่ง และมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเครื่องจักร 1.12 แสนล้านบาทต่อปี ปรับตัวเป็นกลุ่มแรก ขณะที่ภาครัฐควรพิจารณาจัดสรรเม็ดเงินเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 สำหรับมาตรการสนับสนุนให้ SMEs ใช้ IIoT มากขึ้น
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าเทคโนโลยี Industrial Internet of Things (IIoT) เป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์โลกที่กำลังมาแรง เนื่องจากตอบโจทย์แนวคิด Digital Lean Manufacturing ที่เน้นลดการสูญเปล่าในทุกขั้นตอนการผลิต อีกทั้งยังมีปัจจัยเร่งสำคัญจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงานเมื่อเผชิญกับภาวะการผลิตหยุดชะงัก (Supply chain disruption) แนวโน้มการเติบโตของเมกะเทรนด์ดังกล่าวสอดคล้องกับที่ McKinsey ประเมินว่าการลงทุนใน IIoT ทั่วโลกจะปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% ในช่วงปี 2563-2568 ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาคอุตสาหกรรมโลกก้าวสู่ยุค Industry 4.0 อย่างเต็มตัวและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น จากการติดตามการทำงานของเครื่องจักรแบบ Real time ตลอดจนการวิเคราะห์คุณภาพและการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ ซึ่งจะช่วยให้ค่าติดตั้ง ซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องจักร ที่กรณีของไทยมีมูลค่าถึง 2.06 แสนล้านบาทต่อปี ลดลง
“เราเริ่มเห็นตัวอย่าง Use case การนำ IIoT มาใช้ในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และพิสูจน์แล้วว่า IIoT ช่วยลดต้นทุนการผลิตลงมากถึง 30% ภาคอุตสาหกรรมไทยจึงควรเร่งผนวก IIoT ในโรงงานการผลิตมากขึ้น เพื่อให้ก้าวทันกระแสโลกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการไทยราว 60% ยังอยู่ในระดับ Industry 2.0 เท่านั้น ขณะที่มีหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการใช้ IIoT เช่น ต้นทุน Sensor และ Data storage ที่ถูกลง การพัฒนา 5G ที่จะช่วยส่งผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงมาตรการส่งเสริม Industry 4.0 จากภาครัฐ”
นายณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมที่อิงกับการส่งออก 8 กลุ่ม ซึ่งฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและมีความพร้อมในการนำ IIoT มาประยุกต์ใช้ ได้แก่ อุตสาหกรรมผักผลไม้แปรรูป ไก่แปรรูป รถยนต์ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบัน อุตสาหกรรมเหล่านี้ มีโรงงานรวมกันกว่า 17,290 แห่ง คิดเป็นราว 25% ของจำนวนโรงงานทั้งหมดในไทย และมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเครื่องจักรมากถึง 1.12 แสนล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเริ่มจากการศึกษาเทคโนโลยีและพิจารณา IIoT ที่เหมาะสม ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนเข้าร่วมโครงการต่างๆ เช่น โครงการ Industrial IoT and Data Analytics Platform (IDA) โดยความร่วมมือของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NETTEC) และพันธมิตร หรือสามารถติดต่อบริษัทให้บริการเชื่อมต่อระบบ (System integrator) ได้โดยตรง
“ภาครัฐควรพิจารณาจัดสรรเม็ดเงินเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 สู่มาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs เพื่อใช้ IIoT มากขึ้น เนื่องจากความท้าทายหลักที่ SMEs กำลังเผชิญ คือ เรื่องของเงินทุน นอกเหนือจากข้อจำกัดด้านความรู้และบุคลากร โดยการสนับสนุนอาจอยู่ในรูปแบบ “โครงการเงินทุนคนละครึ่ง (Cofinancing)” ด้วยเป้าหมายที่ครอบคลุม SMEs มากรายและใช้ Digital platform เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินโครงการ โดยไม่จำเป็นต้องให้ SMEs สำรองจ่ายเงินไปก่อน เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านเงินทุนอย่างแท้จริง”
ทีม Marketing Strategy
16 กันยายน 2564