อว. ทะลุทะลวงทุกข้อจำกัด ผนึก บีโอไอ และ 2 สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์กับคณะวิทยาศาสตร์ ผลิตวิศวกร-นักวิทย์ทักษะเฉพาะ 2 หมื่นคนต่อปี

อว. ทะลุทะลวงทุกข้อจำกัด ผนึก บีโอไอ และ 2 สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์กับคณะวิทยาศาสตร์ ผลิตวิศวกร-นักวิทย์ทักษะเฉพาะ 2 หมื่นคนต่อปี พร้อมจัดทำหลักสูตรที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการผ่านกระบวนการแซนด์บอกซ์ (Sandbox) เช่น ให้เรียนจบภายใน 3 ปี หรือ เรียนในสถานประกอบการ รองรับความต้องการกำลังคนเร่งด่วน

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ประชุมหารือ เรื่องระบบเตรียมกำลังคนรองรับการลงทุนทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลังการประชุม ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก กล่าวว่า ทางสภาฯ ทั้ง 2 ยินดีร่วมมือกับ อว. และ BOI โดยตั้งเป้าการผลิตกำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ 10,000 คน และด้านวิทยาศาสตร์ไว้ 10,000 คน รวมเป็น 20,000 คนต่อปี ที่มีคุณสมบัติและทักษะเฉพาะเพื่อตอบสนองการลงทุนของภาคเอกชนตามความต้องการที่แท้จริงผ่าน BOI โดย อว. จะจัดตั้งศูนย์ประสานข้อมูลและกลไกพัฒนากำลังคน โดยจะมีกระบวนการ คือ

1.สำนักงานปลัด อว. จะลงนามความร่วมมือกับ สภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ BOI ในเรื่องนี้

2. จัดทำแพลตฟอร์มการอุดมศึกษาแบบพิเศษ ผ่านกระบวนการแซนด์บอกซ์ (Sandbox) โดยที่หลักสูตรอาจแตกต่างไปจากมาตรฐานในปัจจุบัน เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากบริษัทที่ยื่นคำขอมาทาง BOI อย่างเร่งด่วน

รมว.อว. กล่าวต่อว่า ตนมีนโยบายในเรื่องนี้ว่าต้องทำงานเชิงรุก และต้องสามารถสร้างผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว โดยคำนึงถึงความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การพัฒนา และความต้องการของภาคเอกชน ทั้งนี้ ตนได้หารือกับทาง BOI มาตลอด พบว่ายังมีความต้องการจากภาคเอกชนในหลายเรื่องที่ อว. ยังตอบสนองไม่ได้ แม้ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาของเราจะสามารถผลิตกำลังคนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพได้ แต่สำหรับวันนี้อาจจะยังไม่พอหรือไม่ตรงกับความต้องการของนักลงทุน

ดังนั้น กระบวนการแซนด์บอกซ์จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและจะต้องเกิดขึ้นให้ได้ และต้องทำอย่างรวดเร็ว เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงกับภาคเอกชน เช่น ให้เรียนจบภายใน 3 ปี หรือ เรียนในสถานประกอบการโดยมีพนักงานของสถานประกอบการเป็นอาจารย์ร่วมสอนกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้ เป็นต้น เราพูดถึง Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและกระทบการใช้ชีวิตของเราคนทุกคน แต่ตนต้องการให้มี Disruptive Change หรือ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นไปได้ด้วยการใช้กลไกแซนด์บอกซ์นั่นเอง.