เอสซีจี ผนึกกำลังโรงพยาบาลศิริราช ระดมทุกหน่วยงานเร่งสร้างนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ รับมือการขาดแคลนห้องไอซียูในโรงพยาบาล ช่วยขยายพื้นที่รองรับผู้ป่วยหนักที่มีจำนวนมาก ลดอัตราการสูญเสียชีวิต เพิ่มความมั่นใจลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และรศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ร่วมรับมอบนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ จากนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี พร้อมทีมผู้บริหารเอสซีจี ณ บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ตึกปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลศิริราช
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีเล็งเห็นถึงวิกฤตการขาดแคลนห้องไอซียูของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ป่วยเข้ามารับการบริการจำนวนมาก ขณะที่ห้องไอซียู มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยขั้นวิกฤตที่เพิ่มขึ้น จึงได้เร่งสร้างนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ (MODULAR ICU) จำนวน 20 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดขั้นวิกฤต และผู้ป่วยโควิดที่มีโรคประจำตัวแทรกซ้อนที่ต้องการรับการผ่าตัดและรักษาได้ทันท่วงที อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นใจลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในเครือศิริราช ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ซึ่งจะช่วยสร้างความปลอดภัยและความอุ่นใจให้ผู้ป่วยและครอบครัวที่เข้ามารับการรักษา สำหรับนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์นี้ ใช้เวลาก่อสร้างด้วยเวลาที่รวดเร็ว โดย 1 อาคาร ขนาด 10 เตียง ใช้เวลาผลิตในโรงงาน 1 สัปดาห์ และติดตั้งหน้างานอีก 1 สัปดาห์ จึงทำให้สามารถรองรับการให้บริการแก่ผู้ป่วยได้ทันท่วงที ทั้งนี้ เอสซีจี ได้ให้การสนับสนุนการก่อสร้างทั้งสิ้น 5 ล้านบาท ภายใต้มูลค่าโครงการการก่อสร้างรวม 20 ล้านบาท”
นวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ออกแบบและก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วจากการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ จากโรงงาน โดยระบบ Modular สามารถควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างตั้งแต่การออกแบบจนถึงการผลิตจากโรงงานเพื่อมาประกอบบริเวณหน้างานได้อย่างมีมาตรฐาน ถูกออกแบบตามฟังก์ชั่นการทำงานของข้อกำหนดห้อง ICU ที่มีทีมแพทย์เป็นที่ปรึกษา โดยห้องสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เหมาะสมและปลอดภัย ทั้งระบบความดันบวก (POSITIVE PRESSURE ROOM) เพื่อกำจัดเชื้อโรคและฝุ่น และระบบความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM) เพื่อจำกัดการแพร่กระจายและลดเชื้อไวรัสออกสู่ภายนอกอาคาร
พื้นที่การใช้งานแบ่งเป็น 5 ส่วน
1.ICU ZONE สำหรับเตียงผู้ป่วยพร้อมบอกตำแหน่งระบบยังชีพต่าง ๆ ที่จะเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาล โดยระบบการจัดการอากาศใน ZONE นี้ใช้ระบบห้องความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM)
2.NURSING STATION ZONE สำหรับพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย โดยแบ่งเป็น MONITOR ROOM สำหรับพยาบาลที่ดูแลเฝ้าระวัง และ STAND-BY ROOM สำหรับพยาบาลที่เตรียมสวมชุด PPE พร้อมสำหรับเข้าไปดูแลผู้ป่วย ICU โดยระบบการจัดการอากาศใน ZONE นี้ใช้ระบบห้องความดันบวก (POSITIVE PRESSURE ROOM)
3.MEDICAL PREPARATION สำหรับจัดเก็บเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วย
4.ANTE ROOM ขาเข้าสำหรับควบคุมความดันก่อนเข้าสู่พื้นที่ ICU Zone
5.ANTE ROOM ขาออกแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. พื้นที่ลำเลียงผู้ป่วยเข้าและออกจากพื้นที่ ICU
2. สำหรับทิ้งขยะติดเชื้อต่าง ๆ
3. ถอดชุด PPE พร้อมทางเดินไปสู่ห้องน้ำเพื่อทำความสะอาดร่างกายเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่