เสวนาห่วง หญิงตั้งครรภ์-ทารก ติดโควิด เสียชีวิตรายวัน “หมอสูติฯ”ระบุอัตราหญิงท้องติดโควิดเสียชีวิตร้อยละ 2.5 แซงอัตราตายคนทั่วไปที่เสียชีวิตจากโควิตแค่ร้อยละ1 แนะรับวัคซีนกันป่วยหนัก ขอคนรอบข้างช่วยซัพพอร์ตป้องกัน

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ได้มีการจัดเสวนาออนไลน์ เรื่อง “สิทธิและการรักษา ดูแล เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงโควิด-19 ” โดย น.ส.อังคณา อินทะสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กล่าวว่า ข้อมูลของกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-18 ส.ค. 2564 มีหญิงตั้งครรภ์ ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 2,327 คน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50-60 รายต่อวัน อายุ 35 ปี ขึ้นไปติดเชื้อมากสุด โดยมารดาเสียชีวิต 53 ราย และทารกเสียชีวิต 23 ราย ทำคลอดไปแล้ว 1,129 ราย ส่วนใหญ่ผ่าตัดคลอดและคลอดก่อนกำหนดเกือบ 18% เทียบกับการคลอดก่อนกำหนดในสถานการณ์ปกติของไทยอยู่ที่ 1% ทั้งนี้ข้อมูล วันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมาพบว่า ปัจจัยการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด กว่า 70% เป็นข้อจำกัดภายในระบบบริการ 21% เป็นปัญหาการเข้าถึงบริการ และ 9% เป็นปัญหาจากหญิงตั้งครรภ์เอง

น.ส.อังคณา กล่าวว่า ที่น่ากังวลคือพบหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนประมาณ 1.4 หมื่นคน หรือไม่ถึง 10% จากอัตราการตั้งครรภ์ทั้งประเทศ 5 แสนราย ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้หญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด -19 ในผู้ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ดังนั้นควรเร่งรณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์ไปฉีดวัคซีนให้มากขึ้น พร้อมกันนี้ ทางมูลนิธิและเครือข่ายขอเสนอให้มีสายด่วนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง เพื่อขอคำปรึกษา และได้รับการบริการที่รวดเร็ว ทั้งนี้ รพ.ที่รับฝากครรภ์ต้องไม่ปฏิเสธการทำคลอดหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด แต่หากเกินศักยภาพขอให้ประสานส่งต่อไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรม กรณีมารดาเสียชีวิตแต่ทารกรอด ทางรพ.ต้องประสาน หรือจัดนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาดูแลต่อไป

นอกจากนี้ยังขอให้สำนักงานประกันสังคมดูแลเรื่องการเยียวยา 5 พันบาทต่อเดือน นาน 6 เดือน และขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ช่วยเหลือด้านอื่นๆ หลังการคลอดด้วย เช่น ผ้าอ้อม นมผง เป็นต้น ทั้งนี้ในวันที่ 27 ส.ค.นี้ เวลา10.30 น.จะมีการเดินทางไปยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการดูแลหญิงตั้งครรภ์ และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ขอวัคซีนให้คนท้อง-อย่าเทอย่าทิ้งเรา”

นายบี (นามสมมติ) พนักงานโรงงานที่สูญเสียภรรยาจากโควิด -19 ระหว่างตั้งครรภ์ กล่าวว่า ตนต้องสูญเสียภรรยาจากการติดเชื้อโควิดระหว่างตั้งครรภ์ โดยเริ่มจากการที่แม่ยายติดก่อน จากนั้นภรรยาก็ติดเชื้อมีอาการ ไปโรงพยาบาลถึงสองแห่งเพื่อตรวจหาเชื้อ ก็ไม่ได้รับตรวจบอกว่าไม่มีเตียง ต้องกลับมาที่ห้อง ต่อมาอีกวันก็ได้ตรวจ ผลตรวจออกมาว่าติดเชื้อ จนได้เข้ารับการรักษาแต่อาการไม่ดีขึ้น และมีการคลอดก่อนกำหนด ทั้งนี้ภรรยากินยารักษาอยู่หลายวันอาการไม่ดีขึ้น แพทย์ระบุว่าปอดมีรอยรั่วเยอะ ต้องเปลี่ยนมาให้ยาฆ่าเชื้อเพิ่มเติม แต่เปลี่ยนยาได้ไม่ถึงวันภรรยาก็เสียชีวิต ส่วนลูกที่เพิ่งคลอดนั้นไม่ได้ติดเชื้อจากแม่ แต่มีภาวะปอดอักเสบ แพทย์ให้ยาอยู่ในตู้อบ7วัน ส่วนตนก็ติดเชื้อเช่นกัน แต่ตอนนี้หายแล้ว ชีวิตยากลำบากมาก ยังทำใจไม่ได้ ตั้งใจไว้ว่าคงต้องลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก และเมื่อลูกอายุครบ 1 เดือนจะพากลับไปอยู่ที่บ้านต่างจังหวัดทำสวนยางพารา และเลี้ยงหมู เป็นอาชีพกันต่อไป ไม่อยากให้ใครต้องเผชิญชะตามกรรมเหมือนตนและลูก คนท้องทุกคนควรได้รับการดูแลเพื่อให้ปลอดภัยจากโควิด

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์รพ.พิจิตร กล่าวว่า ขณะนี้อัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิดประมาณ 2.5 % ค่อนข้างสูง เทียบกับคนปกติที่อัตราการเสียชีวิตจากโควิดไม่ถึง 1% เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ถึงแม้ผู้ติดเชื้ออยู่ในภาวะขาดออกซิเจน แต่บางคนอาการที่แสดงออกเหมือนว่าไม่เป็นอะไรมาก (Happy hypoxemia) เช้าเหนื่อยไม่มากแต่ตอนเย็นอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้การเสียชีวิตในคนท้องเป็นโศกนาฏกรรม ที่อาจเสียชีวิตได้ถึง 2 คน โดยกรณีคุณแม่นั้นพบว่าส่วนหนึ่งเสียชีวิตหลังคลอดตั้งแต่ 1 วัน-4 สัปดาห์ ส่วนอัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ที่แม่ติดโควิดอยู่ที่ 40% โดยเฉพาะติดเชื้อตอนอายุครรภ์น้อยกว่า 6 เดือน หากติดเชื้อเมื่ออายุครรภ์มากกว่านี้ เด็กมีโอกาสรอดชีวิตจากวิทยาการทางการแพทย์ที่สามารถช่วยเหลือเด็กได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ขึ้นไป

พญ.ชัญวลี กล่าวว่า ทุกหน่วยงานต้องให้การซับพอร์ตหญิงตั้งครรภ์ไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ยกการ์ดให้สูงได้ โดยการให้อยู่บ้านมากที่สุด เป็นการเว้นระยะห่าง และเลี่ยงปัญหาการหายใจลำบากจากการที่ต้องสวมหน้ากากอนามัย เพราะลำพังไม่สวมหน้ากากอนามัยหญิงตั้งครรภ์ก็หายใจลำบากอยู่แล้ว นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์เข้าถึงการฉีดวัคซีนโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด เพื่อป้องกันการติดเชื้ออาการหนัก และการเข้าถึงชุดตรวจ ATK ที่มีคุณภาพ ส่วนเรื่องการรักษานั้นต้องยอมรับว่าแม้จะรักษาตามมาตรฐานแล้ว แต่ก็จะไม่ได้ผลดีเท่าคนไม่ตั้งครรภ์ เช่น การนอนคว่ำเพื่อให้ออกซิเจนในปอดมากขึ้น ทำไม่ได้ในคนท้อง เช่นเดียวกับกรณีที่ภาคประชาชนนำเสนอปัญหาหญิงตั้งครรภ์หา รพ.ทำคลอดลำบากนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย

เนื่องจากหากรพ.ไม่พร้อมจริงๆ การรับคลอดจะทำให้บุคลากรถูกกักตัว และปิดห้องฉุกเฉิน กระทบกับผู้ป่วยคนอื่นอีก ขึ้นอยู่กับการวางระบบการดูแล ส่งต่อด้วย แต่ในพื้นที่ระบาดมากก็ทำได้ยาก เพราะมีหลายปัจจัย ส่วนต่างจังหวัดยังทำได้ดีเพราะเคสน้อย ดังนั้นในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้การป้องกันหญิงตั้งครรภ์ไม่ให้ติดเชื้อจึงสำคัญ ซึ่งหากต้องทำงานลักษณะงาน ต้องไม่หนัก ไม่แบกหาม ควรได้นอนพักกลางวัน 1 ชม. ถึงไม่หลับลึกก็ไม่เป็นไร กลางคืนนอนเพียงพอ 8-10 ชม. รับประทานอาหารเพียงพอ ไม่เครียดทั้งกายใจ

//////////////////////