รมว.ศึกษาธิการ ร่วมวงระดมสมองผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา จากภาครัฐและเอกชน หวังรับฟังแนวทางและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ตั้งเป้าเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสสร้างการศึกษา วางแผนรับมือต่อเนื่องหลังสถานการณ์โควิด-19
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมหารือ ประเด็น “ทิศทางการศึกษาเพื่อฝ่าวิกฤติโควิด” ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมหารือร่วมกับภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP – Thailand Education Partnership ) นำโดย นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ TEP พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของประเทศไทย อาทิ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคประชาสังคม) ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รวมถึง รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. คณาจารย์, เครือข่ายครูในพื้นที่ต่าง ๆ และหน่วยงานภาคเอกชนที่ทำงานร่วมกับ TEP โดยการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะ แนวทางการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งตนขอขอบคุณทุกท่านและทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสะท้อนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีแนวโน้มว่าจะยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้
โดยมุมมองสำคัญเกี่ยวกับประเด็นด้านการศึกษาที่วงประชุมได้แลกเปลี่ยนกันในวันนี้นั้น ถือเป็นเรื่องน่าสนใจที่ต้องนำมาคิดและปรับการดำเนินงานในภาพของ ศธ. โดยเฉพาะประเด็นของผลกระทบที่เกิดกับเด็กในช่วงที่การจัดการเรียนรู้ไม่เป็นไปตามปกติ ก่อให้เกิดการสูญเสียโอกาสทางการเรียนรู้ (Learning Losses) ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ทั่วโลกพบเจอ การที่โรงเรียนไม่สามารถวางแผนการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสถานการณ์ผกผันตลอดเวลา ปัญหาด้านการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเด็ก (Self-management) และผลกระทบที่เกิดจากการเรียนผ่านหน้าจอ เป็นต้น นอกจากนี้ วงประชุมยังได้ร่วมกันวิเคราะห์และหาแนวทางที่จะ “เปลี่ยนวิกฤตที่เกิดขึ้นตอนนี้ ให้เป็นโอกาสในการปฏิรูประบบการศึกษา” ที่สอดรับกับการเรียนรู้ในอนาคต และมองว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 ระบบการศึกษาไทยต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง รวมถึงสะท้อนภาพของการจัดการศึกษาที่ต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปเป็น Digital learning platform และสิ่งหนึ่งที่มีการแสดงความคิดเห็นตรงกันนั้น คือการได้เห็นว่าเมื่อเกิดภาวะวิกฤติแบบนี้ ควรปรับการจัดการให้มีความยืดหยุ่น ปลดล็อกระบบของราชการ ไม่เน้นการเรียนการสอนเพื่อวัดผล แต่ต้องปรับมาเรียนเฉพาะวิชาสำคัญ ให้เด็กได้เรียนรู้จากสิ่งรอบตัว เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Directed Learning) ให้มากที่สุด จากทั้งในชุมชน ครอบครัว
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากประเทศไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบกับระบบการศึกษา ทำให้ไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติ ดังนั้น ศธ. จึงจำเป็นต้องปรับทิศทางระบบการศึกษาให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่และทันสถานการณ์ ตนมีความกังวลและมีความห่วงใยในการดำเนินการดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงต้องการรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้ที่ติดตามประเด็นการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา ศธ. ได้มีนโยบายการจัดการเรียนการสอนแบบ 5 On (Online/On Air/On Demand/On Hand/On Site) โดยได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนรูปแบบดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งได้พบปัญหาและอุปสรรคส่วนหนึ่งจากพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน
สำหรับการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ตนได้แลกเปลี่ยนปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในช่วงที่ผ่านมา เข้าร่วมหารือกับที่ประชุม ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งจากผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน โดยหลังจากนี้ ศธ. จะได้นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาใช้ประมวลผลร่วมกับการเก็บข้อมูลของกลุ่มอาสาสมัครของครูนักประเมินที่ได้มีการปฐมนิเทศและวางแผนในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อฟังเสียงสะท้อนปัญหาและอุปสรรคไปก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อที่จะได้ประเมินสถานการณ์ วางแผนการแก้ไขปัญหา ปรับระบบการศึกษาล่วงหน้า ตลอดจนปรับนโยบายให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตามบริบทของพื้นที่มากที่สุด
“ศธ. พยายามปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้ทันตามสถานการณ์อยู่เสมอ แต่ท่ามกลางความผันผวนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จากเดิมที่เราสามารถเปิดการเรียนการสอนแบบ On Site ได้กว่า 20,000 โรงเรียน แต่ในปัจจุบันเหลือประมาณ 2,000 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ทั้งนี้ ศธ. พบว่า โรงเรียนประจำหลายแห่งมีความพร้อมสำหรับการเรียนการสอนแบบ On Site ได้ จึงร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดเตรียมแนวทาง Sandbox Safety Zone in School (SSS) เพื่อช่วยวางมาตรการด้านความปลอดภัยให้แก่นักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียน ซึ่งจะเริ่มนำร่องในโรงเรียนประจำประมาณ 20 โรงเรียน ต่อจากนั้น จึงจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนประจำแห่งอื่น ๆ ที่มีความพร้อมสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนและต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองจึงจะสามารถดำเนินการได้ โดยการเปิดเรียนดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้มาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ตลอดจนจะเร่งจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมแก่นักเรียน ครู และบุคลากรทุกท่านในโรงเรียนด้วย
นอกจากนี้ ดิฉันยังให้ความสำคัญกับการจัดการเรื่องการลดภาระนักเรียน ครู การปรับการประเมิน และการนับชั่วโมงเรียนเฉพาะประเด็นที่มีความจำเป็นเท่านั้นอีกด้วย ซึ่งดิฉันในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดและยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ” นางสาวตรีนุช กล่าว