สธ.ร่วมกับท้องถิ่นเร่งฟื้นฟูอนามัยสิ่งแวดล้อม พื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมฟื้นฟูอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก โดยเฉพาะการป้องกันโรค แหล่งน้ำกิน น้ำใช้ ปรับปรุงสถานบริการ

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมฟื้นฟูอนามัยสิ่งแวดล้อมในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึกทั้งหมด 23 จังหวัด ขณะนี้ยังเหลือพื้นที่ประสบภัย 2 จังหวัดคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ส่วนจังหวัดตรังยังคงเฝ้าระวังน้ำท่วมจากน้ำไหลหลากและมีแผนรองรับสำหรับสถานบริการในพื้นที่เสี่ยงแล้ว นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดแผนฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด 5 ด้าน ได้แก่ 1.การรักษาพยาบาล โดยฟื้นฟูสถานพยาบาลที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 93 แห่ง ได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเข้าไปสำรวจ กู้ และซ่อมแซม ส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจากแรงลม เช่น หลังคาปริแตก และต้นไม้ล้มทับ ซึ่งสถานบริการที่ได้รับผลกระทบยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ  2.การฟื้นฟูสุขภาพจิตผู้ประสบภัย 3.ควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยอาหารและน้ำดื่ม 4.เฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อหลังน้ำลด ที่สำคัญเช่น โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู ไข้เลือดออก โรคตาแดง และ5.ฟื้นฟูด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ความสะอาดบ้านเรือน บ่อน้ำกินน้ำใช้ กำจัดขยะสิ่งปฏิกูล

นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า หลังน้ำลดอาจทำให้สิ่งสกปรก/เชื้อโรคแพร่กระจาย โดยเฉพาะแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคปนเปื้อน การทำความสะอาดบ้าน ให้ระวังสัตว์มีพิษและของมีคม ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต ขยะภายในบ้านควรใส่ถุงดำแยกไว้ สำหรับห้องน้ำห้องส้วม ใช้อีเอ็มชนิดน้ำหรือชนิดผงละลายน้ำราดลงในโถส้วม เพื่อให้จุลินทรีย์ไปย่อยสลายสิ่งสกปรก ไม่ควรใช้น้ำยาล้างห้องน้ำหรือน้ำยาดับกลิ่นราดลงในโถส้วม หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ชุดปฏิบัติการแพทย์สนามฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ หรือทีมเมิร์ท (MERT : Medical Emergency Response Team) ทีมมินิ-เมิร์ท (mini- MERT) ทีมฟื้นฟูเยียวยาทางสุขภาพจิต (MCATT) จำนวน 36 ทีม พร้อมสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีการจัดส่งยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 49,800 ชุด ยาทาน้ำกัดเท้า 15,800 หลอด เสื้อชูชีพ 880 ตัว รองเท้าบู๊ท 120 คู่ เจลล้างมือ 2,000 หลอด หน้ากากอนามัย 12,000 ชิ้น คลอรีนชนิดเม็ด 80 กระป๋องและรถสื่อสารสั่งการเคลื่อนที่เฉพาะกิจ 2 คัน โรคที่พบมากที่สุดคือ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย น้ำกัดเท้า โรคระบบทางเดินอาหาร ตาแดง โดยประชาชนในพื้นที่บางแห่งยังมีภาวะตื่นตระหนกและนอนไม่หลับ