สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน / ผอ.พอช.ชี้แจง 2 ประเด็น กรณี ‘มติชนออนไลน์’ เสนอข่าว ‘ชาวชุมชนป้อมมหากาฬที่รวมกลุ่มกันกู้เงินจาก พอช.ไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ สุดท้ายโดนยึดที่อีกเหตุชาวบ้าน 1 รายถูก พอช.ฟ้องคดี’ โดยยืนยันทำตามกระบวนการทางกฎหมายและเปิดช่องให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอกันที่ดินที่ไม่เกี่ยวข้องออกและเจรจาหาทางออกร่วมกัน ตามที่ ‘มติชนออนไลน์’ ได้เผยแพร่ข่าวเรื่อง ‘ป้อมมหาหาฬโวยร่วมกู้นับล้านลงขันซื้อที่ สุดท้ายโดนยึดอีกเหตุชาวบ้าน 1 รายถูก พอช.ฟ้องคดี’ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยมีเนื้อหาระบุว่า นายธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ได้เปิดเผยต่อ “มติชน” ว่า ที่ดินของสมาชิกแถวพุทธมณฑลสาย 2 ที่ร่วมกันซื้อมาในราคา 3 ล้านบาท โดยการรวบรวมเงินมาจากการกู้เงิน พอช. จำนวน 2 ล้านบาทและสมาชิกร่วมกันสมทบอีกจำนวน 1 ล้านบาทเพื่อปลูกสร้างบ้านให้กับสมาชิกที่เดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยจำนวน 8 คน ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดอันเนื่องมาจากหนึ่งในสมาชิกถูก พอช.ฟ้องในคดีไม่ชำระหนี้กองทุนมิยาซาว่าศาลพิพากษาตั้งแต่ 5 มิถุนายน 2561 บังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาด โดยสมาชิกที่ถูกฟ้องคดีไม่ทราบว่าตนเองถูกฟ้องมาก่อนและไม่มีโอกาสเข้ากระบวนการต่อสู้คดีนั้นจึงทำให้สมาชิกที่ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนด 8 คนได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อน
วันที่ 9 สิงหาคม นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว โดยมีประเด็นชี้แจงดังนี้
1.ในการฟ้องคดีกับสมาชิกหนึ่งคนของชุมชนป้อมมหากาฬดังกล่าวจากกองทุนมิยาซาว่า ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ให้ตามโครงการแก้ไขปัญหาด้านการเงินและสินเชื่อสำหรับคนจนในเมืองเพื่อนำไปปลดหนี้นอกระบบให้กับสมาชิกนั้น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. ขอเรียนว่า ก่อนที่จะมีการฟ้องคดี พอช. ได้มีการเจรจากับลูกหนี้และอนุมัติให้มีการปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้ง ส่วนในการพิจารณาคดีในชั้นศาล ได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยไปแล้ว 3 ครั้ง เพื่อให้โอกาสสมาชิกที่ถูกฟ้องทุกคนได้เข้าเจรจาและหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในวันที่ 23 มีนาคม 2561 โดยสมาชิกที่ถูกฟ้องคดีท่านนี้ได้ไปศาล 2 ครั้แต่ด้วยคดีนี้มีลูกหนี้หลายรายไม่ให้ความร่วมมือในการเจรจาหาทางออกร่วมกันจึงไม่สามารถไกล่เกลี่ยหรือหาทางออกได้
ดังนั้นการชี้แจงของนายธวัชชัย วรมหาคุณ ในประเด็นสมาชิกที่ถูกฟ้องคดีไม่ทราบว่าตนเองถูกฟ้องมาก่อนและไม่มีโอกาสเข้ากระบวนการต่อสู้คดีนั้น จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
2.เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ปรากฏว่าสมาชิกที่ถูกฟ้องทั้งหมด ทั้งที่มาศาลและไม่มาศาลไม่ชำระหนี้ตามคำสั่งศาล พอช.จึงต้องบังคับคดีไปตามกระบวนการทางกฎหมาย เมื่อ พอช. สืบทรัพย์พบที่ดินของสมาชิกจึงทำเรื่องยึดที่ดินของสมาชิกเพื่อขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้แต่ปรากฎว่าที่ดินไม่ได้เป็นของสมาชิกที่ถูกฟ้องคนเดียว แต่มีสมาชิกจากชุมชนป้อมมหากาฬอีก 8 คนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันอยู่ด้วย
ดังนั้นในทางกฎหมาย สมาชิกที่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกันทั้ง 8 คนยังสามารถที่จะไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอกันส่วน ซึ่งหมายถึงการขอแยกส่วนที่ดินในกรรมสิทธิ์ของตนออกมาจากสมาชิกที่ถูกฟ้อง เพื่อไม่ให้ พอช. บังคับคดีกระทบส่วนของสมาชิกทั้ง 8 คน ปัจจุบันการบังคับคดีที่ดินแปลงนี้ยังอยู่ระหว่างรอการขายทอดตลาด โดยยังไม่ได้ขายทอดตลาดแต่อย่างใด
ในเรื่องนี้แม้ว่าสมาชิกที่ถูกฟ้องคดีดังกล่าวจะมีหนี้สินเดิมที่อยู่ระหว่างการแก้ปัญหา แต่เมื่อมีความเดือดร้อนที่อยู่อาศัยก็ยังถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ พอช. ยังให้ความช่วยเหลือได้ โดยพิจารณาไปพร้อมกัน ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินเดิมกับการสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยใหม่ แต่ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว จะต้องได้รับความร่วมมือจากลูกหนี้นั้นๆ ด้วย จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายไปพร้อมกันและเนื่องจากเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายประเด็น รวมถึงแผนการก่อสร้างบ้านของผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินด้วย การเจรจาหาทางออกและแนวทางที่จะดำเนินการร่วมกันในระยะต่อไป จึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้ชุมชนป้อมมหากาฬ เดิมชาวบ้านอาศัยอยู่บริเวณหลังป้อมมหากาฬ เขตพระนคร มานานหลายสิบปี (รุ่นแรกๆ อยู่อาศัยสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5) ต่อมาในปี 2535 กรุงเทพมหานครได้เวนคืนที่ดิน เพื่อเตรียมจะก่อสร้างเป็นสวนสาธารณะ ขณะที่ชาวบ้านได้พยายามรวมกลุ่มกันต่อสู้เพื่อสิทธิในที่อยู่อาศัย แต่ไม่สามารถต้านทานได้ต้นปี 2561 กทม.ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามารื้อย้าย ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งประมาณ 18 ครอบครัวได้เช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์บริเวณรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ และอีก 8 ครัวเรือนรวมกลุ่มกันซื้อที่ดินแปลงใหม่ย่านพุทธมณฑลสาย 2 เนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา เพื่อสร้างบ้านใหม่ โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อทั้ง 2 โครงการ
**********************