“ตรีนุช” กำชับปลัด ศธ.-เลขาธิการ กพฐ.-เลขาธิการ กอศ. เร่งกระจายเงินพระราชทาน 70 ล้านบาท ไปสนับสนุนการดำเนินงาน-ปรับปรุงสถานศึกษาในสังกัดที่ใช้พื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย หรือสถานที่กักตัว 682 แห่ง ดูแลประชาชนติดเชื้อโควิด-19 ได้ทันการณ์
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม พระราชทานเงิน จำนวน 99,900,000 บาท ให้แก่รัฐบาล เพื่อนำไปสนับสนุนการดำเนินงานของวัด โรงเรียน สถาบันอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย และหน่วยงานของเหล่าทัพทั่วประเทศ ที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย สถานที่กักตัว และสถานที่ฌาปนกิจศพ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 และ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564 โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับเงินพระราชทาน จำนวน 70,000,000 บาท ซึ่งตนจะเร่งจัดสรรเงินพระราชทานไปสนับสนุนการดำเนินงานของสถานศึกษาในสังกัด ที่อนุญาตให้ใช้อาคารและพื้นที่จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย และสถานที่กักตัว ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินงานไปแล้ว จำนวน 682 แห่ง
“ ดิฉันได้ประชุมหารือกับ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) ในการนำเงินพระราชทาน ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ไปใช้สนับสนุนการดำเนินงานของสถานศึกษาในแต่สังกัดที่เป็นโรงพยาบาลสนาม สถานที่กักตัว สถานที่พักคอย รวมถึงหน่วยบริการด้านสาธารณสุข ให้ดีที่สุดทั้งในส่วนของที่พักและห้องน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนได้เป็นอย่างดีและทันการณ์” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด พบว่า มีสถานศึกษาในสังกัด ศธ.อนุญาตให้ใช้อาคารและพื้นที่สถานศึกษาเป็นโรงพยาบาลสนาม จำนวน 156 แห่ง รองรับได้ 11,429 เตียง และเป็นสถานที่กักตัวหรือศูนย์พักคอย จำนวน 526 แห่ง รองรับได้ 18,725 เตียง รวมทั้งสิ้น 682 แห่ง รองรับได้ 30,154 เตียง จำแนกเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อนุญาตให้ใช้สถานศึกษา เป็นโรงพยาบาลสนาม 148 แห่ง รวม 10,140 เตียง เป็นสถานที่กักตัวหรือศูนย์พักคอย 355 แห่ง รวม 15,812 เตียง, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) อนุญาตให้ใช้สถานศึกษา เป็นโรงพยาบาลสนาม 8 แห่ง รวม 1,289 เตียง เป็นสถานที่กักตัว หรือศูนย์พักคอย 16 แห่ง รวม 1,411 เตียง สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อนุญาตให้ใช้สถานศึกษาเป็นสถานที่กักตัว หรือศูนย์พักคอย 155 แห่ง รวม 1,502 เตียง.