“พาณิชย์” ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีก 2 รายการ “เครื่องเคลือบเวียงกาหลง และ ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่” คาดช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของชุมชน และเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่น พร้อมเดินหน้าควบคุมคุณภาพ รักษาคุณภาพเพื่อการค้าที่ยั่งยืน
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีก 2 รายการ ได้แก่ ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ และเครื่องเคลือบเวียงกาหลง ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว 141 รายการ จาก 77 จังหวัด ซึ่งการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิเฉพาะของชุมชน มีการรักษามาตรฐานของสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งต้นกำเนิดคุณภาพของสินค้า และจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถผลิตได้เฉพาะท้องถิ่น
นายสินิตย์ กล่าวว่า “ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่” เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่มีเนื้อสัมผัสเนียน แน่นหนึบ แห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย มีสีเหลืองอ่อนสม่ำเสมอทั้งผล กลิ่นหอมอ่อน รสชาติหวาน มัน ปลูกในอำเภอปากช่องซึ่งจัดอยู่ในพื้นที่ทุ่งหญ้าเขตร้อน มีมรสุมหลักพัดผ่าน ทำให้อากาศชุ่มชื้น มีฝนตกชุก สภาพอากาศกลางวันร้อนกลางคืนเย็น จึงทำให้ธาตุอาหารโพแทสเซียมที่สะสมอยู่ในเวลากลางคืนทำงานได้ดี ส่งผลให้ทุเรียนในพื้นที่ดังกล่าวรสชาติดี
เครื่องเคลือบเวียงกาหลง มีลักษณะเด่นในการขึ้นทะเบียน GI คือ ทนความร้อนสูง ผิวเรียบใสแต่ไม่มันเงา มีรอยแตกที่ผิวจากน้ำเคลือบ ดินที่ใช้ในการผลิต เป็นดินขาวเนื้อละเอียด มีความหนืดสูงคล้ายผงชอร์ค และดินดำเป็นดินที่อยู่ใต้ชั้นดินทราย สีดำแกมเทา มีความละเอียดสูง และมีทรายปนเล็กน้อย ซึ่งเป็นดินในพื้นที่ตำบลเวียงกาหลงเชียงรายหรือพื้นที่ข้างเคียงเท่านั้น ด้วยกรรมวิธีการเผา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีพื้นผิวสีเขียวอมฟ้า เขียวไข่กา หรือขาวอมเหลือง โดยมีการเขียนสีด้วยสีธรรมชาติ เป็นลวดลายเป็นเอกลักษณ์
ด้าน นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากเร่งผลักดันการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กรมฯ ยังส่งเสริมการควบคุมคุณภาพ ซึ่งทำให้สร้างความเข้มแข็งให้สินค้าชุมชนอย่าง GI เติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สินค้า GI ไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างและสร้างรายได้สู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป”
———————————————–
14 กรกฎาคม 2564
กรมทรัพย์สินทางปัญญา