สสส. ดึงเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 600 อปท. ตั้งชุมชนดูแลผู้ป่วยโควิด Community Isolation สู้วิกฤตโควิด-19 เปิดโฮมสเตย์-วัด เป็นที่กักตัวผู้ป่วยสีเขียว รับคนป่วยกลับภูมิลำเนา มั่นใจท้องถิ่นมีศักยภาพสูง พร้อมผนึก 4 องค์กรหลัก เชื่อรับมือได้

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สสส. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการปรับแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือการระบาดของโควิด-19 ร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมกว่า 600 แห่ง รวม 2,268 คน ผ่านทางระบบออนไลน์ เพื่อรับมือสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ในขั้นวิกฤต ส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา ดังนั้น ชุมชนท้องถิ่นจึงต้องเตรียมความพร้อมและมีมาตรการรองรับ ที่ผ่านมาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีความเข้มแข็งและได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่รวดเร็ว สามารถปรับแผนปฏิบัติงานในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ดร.ประกาศิต กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับวิกฤตการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในระลอกนี้ แผนสุขภาวะชุมชนร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่าย (ศวภ.) ได้ออกแบบชุดกิจกรรมเพื่อการควบคุมโควิด-19 ใน 5 ประเด็นคือ

1.ติดตามข้อมูลคนเข้าออก/ผู้ติดเชื้อ/กลุ่มเสี่ยง

2.การสื่อสารกระบวนการ ได้แก่ การรายงานตัว และการรับวัคซีน

3.การดูแลตนเองในระบบชุมชนให้กับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน (Community Isolation) ซึ่งประกอบไปด้วย สถานกักกันโรคท้องที่ (Local Quarantine / Home Quarantine) และระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation)

4.การสนับสนุน รับ-ส่งตัว

5.การฟื้นฟูด้านต่างๆ ในทุกมิติ

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้ท้องถิ่นมีประสบการณ์การรับมือกับการระบาดที่แตกต่างกันไป บางพื้นที่มีการระบาดค่อนข้างกว้างขว้างและเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ท้องถิ่นจึงต้องวางมาตรการจำกัดวงการระบาด ทั้งการคัดกรองคนเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มงวด มีการเตรียมสถานที่สำหรับกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงสูง การส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อไปยังโรงพยาบาล รวมถึงการบริหารจัดการวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ แต่ที่มีเหมือนกันทุกพื้นที่ คือความร่วมมือกันในการพัฒนาศักยภาพในการจัดการปัญหาผ่านความร่วมมือของ 4 องค์กรหลัก ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ท้องที่ คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรชุมชนหรือภาคประชาสังคม และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ ซึ่งทุกพื้นที่ต้องรับมือกับสถานการณ์อย่างจริงจังและเข้มงวด เพื่อจำกัดวงการระบาดทั้งในส่วนที่จะนำเข้ามาและในส่วนที่จะนำออกไป

นายบัญชา ศรีชาหลวง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิมาน อ.นาแก จ.นครพนม กล่าวว่า มีการเตรียมความพร้อมสถานที่รับคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อกักตัว หรือสถานกักกันโรคท้องที่ โดยปรับโฮมสเตย์บ้านพอเพียงจำนวน 13 หลัง ของชุมชนเป็นสถานที่กักตัว ขณะนี้ยังมีผู้เดินทางกลับมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกคนที่เข้าพื้นที่ต้องตรวจหาเชื้อโควิดด้วยการตรวจโควิดด้วยชุดทดสอบแบบรวดเร็ว (Rapid test) หากผลเป็นบวกจะส่งต่อโรงพยาบาลทันที แต่หากผลเป็นลบ จะต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ในบ้านพอเพียง ซึ่งจะหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ และระหว่างที่กักตัวจะมีทีมแพทย์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตรวจเก็บตัวอย่าง ทุกๆ 5 วัน ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ไม่น่าห่วง เพราะความตื่นตัวของคนในชุมชนที่ร่วมด้วยช่วยกัน ทุกคนไม่รอเป็นภาระของทางราชการเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือ การควบคุมคนที่มาจากต่างพื้นที่ตามมาตรการให้ได้ ทุกคนจึงต้องเป็นหูเป็นตา เพื่อไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่

นายพงษ์ศักดิ์ สมประสงค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า มีการจัดเตรียมสถานที่กักตัวของชุมชน ทั้ง Local Quarantine และ Home Quarantine ของแต่ละตำบล อย่างน้อย 1 แห่ง เช่น วัด อาคารเอนกประสงค์ของชุมชน ซึ่งการใช้วัดแต่ละชุมชนเป็นสถานที่กักตัว ทำให้เกิดความระแวงหวาดกลัวของคนในชุมชน บางพื้นที่ไม่กล้าใส่บาตรพระ จึงต้องเร่งเดินหน้าสร้างความเข้าใจให้คนในชุมชนไปพร้อมกันด้วย ส่วนมาตรการการดูแลระหว่างการกักตัวจะมีทีม อสม. ชุดละ 3 คน ดูแลในตอนกลางวัน และทีม อปพร. ดูแลในช่วงกลางคืน ส่วนอาหาร น้ำดื่ม ทางอบต.จะเป็นผู้ดูแลตลอดระยะเวลาการกักตัว ทั้งนี้ผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงสูงจะต้องผ่านการคัดกรองและตรวจแบบจากการแหย่จมูก (Swab) หากพบเชื้อก็จะนำส่งโรงพยาบาลทันที

นางอิสสริยา จิตสุภาพ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งกระเต็น อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ทาง อบต. ได้เตรียมศาลาการเปรียญวัดในพื้นที่ 7 แห่ง ไว้รองรับ โดยแบ่งสัดส่วนมีฉากกั้น จัดเตรียมอุปกรณ์พื้นฐานของใช้ที่จำเป็นไว้ให้สำหรับผู้ที่มากักตัว ถือว่าเราเริ่มที่จะเรียนรู้ประสบการณ์จากปีที่แล้ว โดยร่วมกันทำความสะอาด มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ จัดเป็นฉากกั้นเพื่อให้ผู้มากักตัวมีความสบาย ไม่อึดอัด จัดเตรียมที่นอน หมอน มุ้งให้ ซึ่งเป็นการต้อนรับด้วยความอบอุ่น ญาติพี่น้องสามารถมาส่งข้าว ส่งน้ำได้ ขณะเดียวกันทาง อบต. จะมีข้าวให้ทั้ง 3 มื้อ เวลาช่วงกลางวันได้จัด อสม. เจ้าหน้าที่ของ อบต. หน่วยงานกู้ชีพที่จะไปดูแลไม่ว่าจะเป็นการวัดอุณหภูมิ ทั้งช่วงเช้า ช่วงเย็น และจะรายงานทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทราบเป็นระยะๆ สำหรับผู้ที่มาจากต่างจังหวัดจะต้องรายงานตัว ต่อศูนย์กักตัวในตำบล โดยต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เพื่อให้พื้นที่เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งนี้จังหวัดบุรีรัมย์ มีนโยบาย ไม่อนุญาตผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงกักตัวที่บ้านแต่ต้องกักตัวในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา แต่ถ้าเดินทางมาจากพื้นที่สีเหลืองสามารถกักตัวที่บ้านได้ตามมาตรการ 14 วัน

///////////////////////////////