สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน/ สานพลังทางสังคมหน่วยงานภาคีร่วมมือชุมชนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาใช้พื้นที่ชุมชนต้นแบบ 5 จังหวัด อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ สุรินทร์ นครราชสีมา และพัทลุง เป็นพื้นที่วิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สร้าง ‘วัคซีนทางสังคม’ เริ่มกรกฎาคม–ธันวาคมนี้ โดยจะใช้ผลการศึกษาวิจัยจากชุมชนต้นแบบเป็นโมเดลขยายผลไปสู่ชุมชนอื่น และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในปี 2564 ที่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบไปทั่วประเทศหน่วยงานภาคีเครือข่ายประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้ตระหนักถึงสภาวะวิกฤตความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมกันจัดทำ ‘โครงการวิจัยการสนับสนุนการจัดการเชิงพื้นที่เพื่อการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19’ ขึ้นมาระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคมนี้
โดยเมื่อวันที่ 30 กรกฏาคม มีการจัดการประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางการขับเคลื่อนโครงการวิจัยฯ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยการประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เช่น สปสช. สช. สสส. สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชน และผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ประมาณ 87 คนร่วมประชุม โครงการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากโควิด
นางสาวจันทนา เบญจทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการวิจัยการสนับสนุนการจัดการเชิงพื้นที่ฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ว่า
1. เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ในชุมชน และคนเปราะบางในมิติด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม
2. เพื่อหนุนเสริมและสร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายองค์กรชุมชนในการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในระยะเร่งด่วนและระยะฟื้นฟู ในมิติทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่
3.เพื่อศึกษาระบบและกลไกการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบวิกฤตโควิด-19 ของชุมชนที่เป็นโมเดลต้นแบบและขยายผลไปยังชุมชนอื่น
4.เพื่อเสริมพลังกลไกเครือข่ายชุมชนให้เป็นระบบเครือข่ายความปลอดภัย (Social Safety Net) ในการป้องกันความเสี่ยงของชุมชนเมื่อเกิดสภาวะวิกฤต
5. เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการบริหารจัดการเชิงรุกเพื่อรองรับสภาวะวิกฤต (Pre-crisis management) ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้การดำเนินโครงการวิจัยได้เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฏาคม-ธันวาคมนี้ โดยจะเริ่มกระบวนการตั้งแต่การจัดตั้งกลไก เตรียมทีมงานโครงการ การคัดเลือกจังหวัดเป้าหมาย วางแผนการดำเนินงานร่วมกับกลไกและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องสำรวจปัญหาความต้องการของชุมชนที่ได้รับผลกระทบการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อออกแบบแนวทางความช่วยเหลือ ทั้งในระยะเร่งด่วน เฉพาะหน้าระยะฟื้นฟู และพัฒนาการดำเนินกิจกรรมตามแผนงาน
การเชื่อมโยงประสานความความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก การบูรณาการแผนงาน และ เชื่อมโยงสู่แผนการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดการวิเคราะห์และสรุปบทเรียนผลการดำเนินงานของโครงการ
การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาโครงการร่วมกัน เพื่อประเมินผลการดำเนินงานร่วมกับชุมชน กลไกในพื้นที่ และหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อประเมินผลการดำเนินงานและพัฒนาเป็นแผนหรือนโยบายระดับพื้นที่ ตลอดจนจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการเชิงรุกรองรับสภาวะวิกฤตเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ใช้พื้นที่ชุมชนต้นแบบ 5 จังหวัดอีสาน–ใต้เป็นพื้นที่วิจัย
สำหรับการคัดเลือกจังหวัดที่ดำเนินการวิจัยครั้งนี้ คณะกรรมการโครงการฯ ได้คัดเลือกพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีความเข้มแข็งของกลไกเครือข่ายองค์กรชุมชนในระดับพื้นที่ เช่น มีการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชนตำบล ฯลฯ มีการประสานความร่วมมือในการดำเนินโครงการวิจัยร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่นสามารถขับเคลื่อนงานโครงการให้บรรลุผลได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยมีจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกวิจัยนำร่อง 5 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ สุรินทร์ นครราชสีมาและพัทลุง
ส่วนการขับเคลื่อนงานวิจัยในพื้นที่ 5 จังหวัดจะมีทีมวิจัย ซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน บ้านมั่นคง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมหาวิทยาลัย ฯลฯ ร่วมเป็นคณะวิจัย ทั้งนี้การขับเคลื่อนงานวิจัยครั้งนี้จะต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นคนจน กลุ่มเปราะบาง รวมถึงเปิดพื้นที่ให้คนจนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอนด้วย โดยทั้ง 5 จังหวัดมีแผนงานการขับเคลื่อนเบื้องต้นดังนี้
สุรินทร์ : เตรียมข้อมูลพื้นที่เพื่อวางแผนการทำงานคัดเลือกชุมชน 5 พื้นที่ตามเกณฑ์ที่ภาคลงมติร่วมกัน โดยเลือกพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีต้นทุนในการทำงานอยู่แล้ว ทั้งพื้นที่ชนบทและพื้นที่เมือง
นครราชสีมา : ใช้กลไกสภาองค์กรชุมชนและกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกลไกหลักประสานความร่วมมือกับเครือข่ายที่มีสร้างทีมนักวิจัยและนักปฏิบัติการ ออกแบบเครื่องมือในการเก็บข้อมูลเพื่อสรุปบทเรียนพื้นที่
กาฬสินธุ์ : เตรียมคัดเลือกพื้นที่ตามเกณฑ์ที่ภาคมีข้อตกลงร่วมกัน มีทั้งหมด 5 พื้นที่ 5 โมเดล มีการวางทีมคณะทำงานโดยเชื่อมโยงการทำงานทั้งในส่วนของท้องที่และท้องถิ่น
อำนาจเจริญ : วางแผนการทำงานร่วมกับทีมวิชาการในพื้นที่ ทั้งแกนนำขบวนองค์กรชุมชนผู้แทนจากพื้นที่ทั้งเขตเมืองและชนบทภาคีที่เกี่ยวข้อง (พมจ.) มีการนิยามคำว่าชุมชนร่วมกันเพื่อคัดเลือกพื้นที่ชุมชนเมืองและชุมชนชนบท
พัทลุง : กำหนดเป้าหมายทำงานเชิงรุก สร้างอาชีพ ลดการพึ่งพาระบบสาธารณสุข เช่น จัดตั้งศูนย์พักคอย ใช้สมุนไพรรักษาโควิด ใช้ทุนชุมชนเพื่อสร้างโมเดลในการจัดการตนเอง โดยใช้กลไกชุมชน ผ่านการระดมทุนและการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เป้าหมาย 5 ชุมชน 50 ครัวเรือน
ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการโครงการวิจัยครั้งนี้ เป็นงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ 5 จังหวัดรวม 3.3 ล้านบาทเศษ ในจำนวนนี้เป็นงบสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน-ฟื้นฟู-พัฒนา เช่น การดูแลสุขภาวะในช่วงโควิด การสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายจังหวัดละ 500,000 บาท โดยแต่ละจังหวัดจะมีพื้นที่ชุมชนเป้าหมายในการวิจัยอย่างน้อย 5 ชุมชน
วิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว
นางสาวจันทนา กล่าวว่า การวิจัยครั้งนี้มีโจทย์การวิจัยที่สำคัญ คือ
1. การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในชุมชน มีผลกระทบต่อคนเปราะบางในมิติทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างไรบ้าง
2. การแก้ไขปัญหาวิกฤตในชุมชนเพื่อการดูแลคนเปราะบางเดิม (ก่อนที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่) มีการจัดการอย่างไร
3.ชุมชนจะมีระบบและกลไกการแก้ไขปัญหาคนเปราะบางในสภาวะวิกฤตโควิด-19 ในระยะเร่งด่วน ระยะฟื้นฟู ในมิติทางด้านสุขภาพเศรษฐกิจและสังคม ที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่อย่างไรและชุมชนจะมีการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้พ้นสภาวะวิกฤต
นางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการเสนอความเห็นว่า การวิจัยเรื่องโควิดครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นการสร้างระบบของชุมชนเพื่อดูแลช่วยเหลือกันในระยะยาว โดยใช้โอกาสจากงานวิจัยมาหนุนเสริม ใช้ทุนต่างๆ ที่มีในชุมชน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนมาช่วยเหลือกันในช่วงโควิด หรือมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางเพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และต้องจัดทำข้อมูลกลุ่มเปราะบางให้ชัดเจน มีปัญหาความต้องการอย่างไร อาจเชื่อมทุนจากภายนอกมาหนุนเสริม และต้องเปลี่ยนระบบ ต้องทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุนมาดูแลกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง
“ระยะยาวชุมชนจะสามารถจัดระบบ เพื่อวางแผนพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวมของชุมชน รวมทั้งแผนพัฒนาในด้านต่างๆ และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายนอกเหนือจาก 5 จังหวัดที่วิจัย เพื่อให้พื้นที่อื่นมาเรียนรู้ มาแลกเปลี่ยน เช่น ในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่วิจัย แต่ได้รับผลกระทบมาก จะเชื่อมโยงกันอย่างไร เพื่อเกื้อหนุนกัน เช่น นำสินค้าผลผลิตจากชุมชนมาแลกเปลี่ยนหรือขายราคาถูก และใช้โอกาสจากงานวิจัยไปทำงานให้สอดคล้องกับพื้นที่ สามารถตอบคำถามงานวิจัยได้ เพราะชุมชนไม่ได้ทำวิจัยเพื่อวิจัย แต่เป็นการทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา และขยายการพัฒนาของชุมชนไปเชื่อมโยงกับระบบที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้” นางสาวพรรณทิพย์กล่าว
นพ.สำเริง แหยงกระโทก จากจังหวัดนครราชสีมาเสนอความเห็นว่าอยากให้งานวิจัยครั้งนี้เน้นไปที่จุดสำคัญคือ การทำศูนย์พักคอย หรือ CI (Community Isolation) ว่า CI เกิดขึ้นได้อย่างไรทำอย่างไรมีความสำเร็จอย่างไรหรือไม่สำเร็จ ให้เจาะลึกเพื่อให้เกิดบทเรียนที่ชัดเจน เพราะตอนนี้ยังไม่มีใครทำวิจัยเรื่องนี้ ยังเป็นเรื่องใหม่
“ขณะนี้โรงพยาบาลไม่พอโรงพยาบาลสนามก็ไม่พอ ดังนั้นชุมชนจึงต้องมาช่วยกันทำ CI เพื่อมาดูแลผู้ป่วยสีเขียวหรือเหลืองอ่อนซึ่งยังมีอาการไม่มากเพราะไม่ต้องใช้หมอ ไม่ต้องใช้พยาบาล ใช้คนในชุมชนมาช่วยกันทำ ดูแลกัน เช่น อบจ. อบต. พระ อสม. ชาวบ้าน ฯลฯ เป็นการรวมตัวของคนในตำบล จึงอยากให้ทีมวิจัยภาคอีสาน 4 จังหวัดทำวิจัยเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพื่อเป็นบทเรียน” นพ.สำเริงเสนอ
ระดมสรรพกำลังสู้โควิด–สร้างวัคซีนทางสังคม
นุชจรี พันธ์โสม เลขานุการสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง เล่าว่า สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางมีสมาชิก 20 ชุมชน ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ จัดทำครัวกลางเพื่อทำอาหารแจกจ่ายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2563 นอกจากนี้ยังใช้ที่ว่างในชุมชน (ที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์) ปลูกผักสวนครัวเลี้ยงปลาดุกเพื่อนำมาเป็นทำอาหารและเป็นแหล่งอาหารสำรองของชุมชน รวมทั้งรณรงค์ให้ความรู้ป้องกันการแพร่เชื้อ แจกเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ฯลฯ
“ส่วนโควิดปีนี้ เราได้เตรียมสถานที่พักคอยในชุมชน (Community Isolation) เพื่อรองรับผู้ป่วย โดยจะใช้ศูนย์เด็กเล็กในชุมชน รองรับได้ผู้ป่วยได้ 10 เตียง และเตรียมห้องประชุมของชุมชนรองรับได้ประมาณ 30 เตียง ส่วนผู้ที่ป่วยไม่มากหรือมีสถานะสีเขียว เราจะให้กักตัวในบ้าน (Home Isolation) แยกตัวออกจากคนในครอบครัว โดยเราจะส่งข้าวกล่องให้ 3 มื้อและประสานงานกับ สปสช.เพื่อจัดส่งยา เครื่องวัดอ๊อกซิเจน เพื่อวัดค่าอ๊อกซิเจนในเลือดและรายงานผลทางไลน์ให้ทางศูนย์สาธารณสุขทราบทุกวันเพื่อติดตามอาการและดูแลผู้ป่วย” นุชจรีบอกถึงการดูแลผู้ติดเชื้อ
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า การทำศูนย์พักคอยในชุมชนหรือ CI หรือศูนย์พักพิงเพื่อจะส่งต่อ ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถจะส่งต่อไปไหนได้แล้วเพราะไม่มีที่จะให้ส่ง แต่ CI จะดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ซึ่งชุมชนสามารถทำได้ โดยเฉพาะ พอช. เครือข่ายชุมชน สภาองค์กรชุมชน เพราะทำเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เรื่องอาชีพ และที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว
นพ.ปรีดากล่าวว่า การทำ CI โดยชุมชนไม่ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์จึงต้องช่วยกันทำและต้องรีบทำเพราะไม่งั้นจะเสียชีวิตอีกมากและมี ‘4 อ.’ ที่ต้องช่วยกันทำ คือ
1. อาการ ดูอาการ การหายใจ ว่าเป็นอย่างไร รักษาตามอาการและช่วยกันดูแล
2.อาหาร
3. อาศัย คือศูนย์พักคอยหรือที่พักพิง
4. อาศัยฐานทุนที่มีอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
“ถ้าเป็นไปได้อยากให้ สปสช.เชื่อม CI เข้าสู่ระบบและจัดสรรงบประมาณให้ศูนย์พักคอยชุมชนโดยตรง เช่น ทำเรื่องอาหาร เพื่อขยายการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ทำให้ชุมชนที่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ จะได้มีอาชีพ โดยทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทำเรื่องนี้ จนกว่าวัคซีนจะมีมากขึ้นและสิ่งที่พวกเราทำนี้ ทั้งสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม เป็นวัคซีนทางสังคมที่พวกเราช่วยกันทำได้อย่างดี ต้องสร้างเครือข่าย ต้องทำต่อไปและขยายไปทั่วประเทศแล้วเราจะไปรอด” นพ.ปรีดาย้ำ
นพ.ปรีดากล่าวในตอนท้ายว่า ในวันที่ 9 สิงหาคมนี้จะมีการพูดคุยกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ โดยมี สปสช. สสส. พอช. และพี่น้องชุมชน เพื่อกระชับความร่วมมือให้เต็มที่และมากขึ้น เพราะจะต้องระดมสรรพกำลังร่วมกันให้มากกว่าโควิดรอบแรก เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์หนักกว่าสงครามโลก เป็น ‘สงครามโรค’ และหากระบาดระลอก 4 หรือเป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่จะอันตรายร้ายแรงยิ่งกว่านี้ ขณะที่ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้แล้ว
ดังนั้นจึงต้องช่วยกันยันสมรภูมิในพื้นที่ให้ชัดเจน ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล โดยใช้จุดแข็งของ พอช.และสภาองค์กรชุมชนคือมีกำลังคนในพื้นที่มีทีมและมีทุนบางส่วนแล้ว ในส่วนของ สปสช. สสส. และ สช.จะเข้ามาหนุนเสริมในเรื่องรูปแบบความรู้เรื่องการจัดการ การรับมือกับโรคระบาด เพื่อดูแลพี่น้องในชุมชนเป็นการสานพลัง สานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการแก้ไขปัญหากฎระเบียบต่างๆ หรืออุปสรรคทางนโยบาย โดย สช.จะช่วยเชื่อมประสานงานทางหน่วยงานนโยบาย เพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เป็นทางรอดของประเทศไทย
************