‘ชมรมแพทย์ชนบท’ ลุยตรวจโควิดชุมชนกรุงเทพฯ รอบใหม่ 4-10 ส.ค.นี้ ขณะที่หลายชุมชนพร้อมรับมือ-ปลูกกระชาย ฟ้าทะลายโจรแก้ยา-วัคซีนขาดแคลน

กรุงเทพฯ / ชมรมแพทย์ชนบทลุยตรวจโควิดชุมชนในกรุงเทพฯ รอบใหม่ ‘ปฏิบัติการกรุงเทพมหานคร  ครั้งที่ 3’ ตรวจระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคมนี้  หลังจากตรวจไปโควิดไปแล้ว 2 ครั้ง รวมผู้ตรวจกว่า 50,000 คน พบผู้ติดเชื้อ 6,863 คน หรือ 13.35 % เสนอ 6 แนวทางกู้วิกฤตโควิด ชูยุทธศาสตร์ ‘กรุงเทพฯ รอด  ตจว.รอด’ เสนอรัฐบาลใช้ ‘อู่ฮั่นโมเดล’ ล็อกดาวน์เฉพาะชุมชนที่ระบาดและเยียวยาเพื่อให้ชาวบ้านยังชีพได้ ด้านเครือข่ายสลัม 4 ภาค-พอช. หนุน 35 ชุมชน ตรวจโควิดกว่า 4,000 คน ขณะที่หลายชุมชนสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกฟ้าทะลายโจรและกระชายขาวสู้โควิด

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ชมรมแพทย์ชนบทร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายประชาชน เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพ.ศ.) ได้ร่วมกันสนับสนุนการตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุกให้แก่ชุมชนแออัดใน กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 14-16 กรกฎาคม รวม 39 ชุมชน ใช้ทีมแพทย์ชนบท 6 ทีม และวันที่ 21-23 กรกฏาคม ประมาณ 42 ชุมชน ใช้ทีมแพทย์ 16 ทีม มีชาวชุมชนได้รับการตรวจหาเชื้อโควิดทั้งหมด 51,389 คน พบผู้ติดเชื้อ 6,863 คน คิดเป็น 13.35% ของผู้ตรวจทั้งหมด

แพทย์ชนบทเสนอยุทธศาสตร์  ‘กรุงเทพฯ รอด  ตจว.รอด’ ใช้หลัก ‘6 R’

จากผลการตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุกทั้ง 2 ครั้งของชมรมแพทย์ชนบทดังกล่าว  พบผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ ค่อนข้างสูง คือ 13.35 % ของจำนวนผู้ตรวจทั้งหมด ขณะเดียวกันยังมีชาวชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ อีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ (ข้อมูลจากสำนักพัฒนาสังคม กทม.ระบุว่า ในกรุงเทพฯ มีชุมชนทั้งหมด 2,016 ชุมชน เป็นชุมชนแออัด 641 ชุมชน) ดังนั้นกรุงเทพฯ จึงเป็นแหล่งแพร่เชื้อแหล่งใหญ่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม มีผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ รายใหม่ รวม 3,997 ราย ขณะที่ชมรมแพทย์ชนบทได้เสนอมาตรการเร่งด่วนต่อรัฐบาลและเตรียมจัดทีมแพทย์ลุยตรวจโควิดรอบใหม่ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้

โดยเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม  นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ข้อความลงใน facebook ชมรมแพทย์ชนบท  หัวข้อว่า  “ข้อเสนอ แนวทาง 6R สำหรับ ปฏิบัติการกรุงเทพมหานครครั้งที่ 3” มีเนื้อหาว่า วันนี้ 28 กรกฎาคม 2564 ทางชมรมแพทย์ชนบทได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิดแนวทางการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิดในกรุงเทพมหานคร ในที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน แพทย์ชนบทได้นำเสนอข้อมูลการปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุง 2 ครั้ง ตรวจ rapid test ให้พี่น้องประชาชนในชุมชนแออัดไปทั้งสิ้น 51,389 คน พบผลบวก 6,863 คน คิดเป็น 13.35% และได้นำเสนอข้อเสนอสำหรับการกู้กรุงเทพฯ ซึ่งสังเคราะห์จากประสบการณ์ 2 ครั้งที่ผ่านมา

ข้อเสนอของแพทย์ชนบทยังมุ่งเน้นการควบคุมการแพร่ระบาดในชุมชนแออัดให้ได้เพราะนั่นคือจุดระบาดใหญ่ แล้วกรุงเทพฯจะรอด เมื่อกรุงเทพฯรอด ต่างจังหวัดก็จะรอดด้วย เราประมวลแนวทางได้เป็นตัวย่อว่า 6R กล่าวคือ

1.Rapid Testing แม้เตียงเต็ม จะล้น เรายิ่งต้อง rapid testing โดย ATK-antigentest kit ให้มาก เพื่อแยกผู้ป่วยออกมา

2.Rapid tracing นำผู้สัมผัสร่วมบ้านร่วมงานมาตรวจให้มากที่สุดในวันเดียวกัน

3.Rapid treatment ด้วย early home favipiravir หรือจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ทันทีที่พบผู้ติดเชื้อที่มีอาการหรือมีโรคประจำตัวหรือสูงอายุ เพื่อไม่ให้เขาต้องป่วยหนักส่วนคนติดเชื้อที่ไม่ป่วยให้ฟ้าทะลายโจรและรับเข้า HI-home isolation ในวันเดียวกัน

4.Rapid vaccination ฉีดวัคซีนให้เร็วและให้ครอบคลุมในชุมชนแออัด โดยเน้นที่ผู้สูงอายุก่อนและหากมีวัคซีนมากพอก็ฉีดทุกคนที่อายุมากกว่า 18 ปี

หากทำทั้ง 4 มาตรการแล้ว จะลดการระบาดได้แน่ลดการป่วยหนักและการตายลงได้ ส่งผลให้ลดภาวะการมีเตียงไม่พอลงได้ สิ่งนี้คือบทบาทของภาคสาธารณสุขทั้งของ สธ. กทม. และทีมแพทย์ชนบทสามารถดำเนินการร่วมกันได้  และหากรัฐบาลจะกู้กรุงเทพฯแบบอู่ฮั่นโมเดล ก็ต้องทำอีก 2R ก็จะยิ่งสามารถลดการระบาดได้อีก  คือ

5.Rapid lockdown ในชุมชนที่ระบาดเพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อออกนอกชุมชน เนื่องจากบางรายมีเชื้อระยะเริ่มต้นแต่ยังตรวจด้วย ATK หรือ rtPCR ไม่พบ  ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้อง lockdown ทั้ง กทม.

6.Rapid healing หาก lockdown ก็ต้องมีการเยียวยาผู้คนในชุมชนแออัดนั้นๆ เยียวยาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เขามีรายได้เพื่อสามารถยังชีพได้ในระหว่างที่มีการล็อกดาวน์ชุมชนของเขา

“นี่คือ 6 ข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบท ขณะนี้ทีมแพทย์ชนบทกำลังประสานงาน  ระดมความร่วมมือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนและตอบรับจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาชนที่จะร่วมกัน ‘ปฏิบัติการกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3’  ร่วมกันเร็วๆ นี้” ข้อความใน facebook ชมรมแพทย์ชนบทระบุในตอนท้าย

ทั้งนี้ที่ผ่านมาชมรมแพทย์ชนบทได้ระดมบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ เข้ามาตรวจโควิด-19 ที่กรุงเทพฯ เช่น ทีมแพทย์จาก อ.สิชล  จ.นครศรีธรรมราช, รพ.จะนะ, รพ.สมเด็จพระบรมราชินีนาถ  อ.นาทวี จ.สงขลา, รพ.ตากใบ จ.นราธิวาส, รพ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี, ขอนแก่น, จ.สุรินทร์, รพ.บ่อเกลือ จ.น่าน, ทีมแพทย์จาก จ.สุโขทัย ฯลฯ รวมประมาณครั้งละ 60-80 คน ส่วนการตรวจรอบที่ 3 นี้ คาดว่าจะตรวจได้ไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 คน

เตรียมบุกกรุงเทพฯ ตรวจโควิดเชิงรุกรอบ 3

นายสยาม นนท์คำจันทร์  โฆษกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปฏิบัติการตรวจโควิด-19 เชิงรุกในกรุงเทพฯ ของทีมแพทย์ชนบทรอบ 3 นี้ มีกำหนดการตรวจระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคมนี้และนอกจากทีมแพทย์ชนบทจะลงตรวจในชุมชนต่างๆ แล้วเครือข่ายสลัม 4 ภาค และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้เตรียมชุมชนในเครือข่ายเพื่อให้ชาวบ้านได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 40 ชุมชน มีจุดตรวจ 12 จุด

ประกอบด้วย

1.ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา  เขตวังทองหลาง (20 ชุมชน)

2.วัดจันทร์ประดิษฐาราม  เขตภาษีเจริญ  (3 ชุมชน)

3.ศูนย์พักโรงเรียนประถมนนทรีย์  เขตยานนาวา (…..)

4.สนามฟุตบอลโปโลคลับ และลานจารุเมือง เขตปทุมวัน (…..)

5.ชุมชนร่วมมิตรแรงศรัทธา  เขตดอนเมือง (3 ชุมชน)

6.ชุมชนบ้านมั่นคงวิมานทอง  เขตบางบอน (1 ชุมชน)

7. อาคารพุทธวิชา ม.ราชภัฏพระนคร เขตบางเขน (5 ชุมชน)

8.สหกรณ์ริมคลองสอง (บ้านมั่นคงคลองลาดพร้าว) ซอยผักหวาน  เขตสายไหม (1 ชุมชน)

9.สหกรณ์ริมคลองพัฒนา (บ้านมั่นคงคลองลาดพร้าว) ซอยจิระมะกร  เขตสายไหม (1 ชุมชน)

10.ชุมชนเพิ่มสินร่วมใจ (บ้านมั่นคงคลองลาดพร้าว) เขตสายไหม (1 ชุมชน)

11.บ้านมั่นคงประชาสามัคคี  เขตบางพลัด (1 ชุมชน)

12.ชุมชนบ่อฝรั่งริมน้ำพัฒนา เขตจตุจักร (1 ชุมชน)  รวมชาวบ้านที่จะตรวจในขณะนี้ประมาณ 4,280 คน

“ส่วนประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ได้ตรวจหาเชื้อโควิด สามารถติดต่อเพื่อแจ้งความต้องการตรวจหาเชื้อได้ที่จุดตรวจชุมชนใกล้เคียงทั้ง 12 แห่ง  โดยต้องแจ้งรายชื่อแก่ผู้นำชุมชนนั้นๆ  เพื่อจะได้ทราบจำนวนผู้ที่จะตรวจทั้งหมดและนำส่งต่อให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานเพื่อให้ทีมแพทย์ได้เตรียมอุปกรณ์การตรวจให้พอเพียง”  นายสยามกล่าว

เขาบอกด้วยว่า การตรวจเชิงรุกรอบ 3 ของทีมแพทย์ชนบทในครั้งนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะส่งอาสาสมัครเข้าร่วมสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ด้วย เช่น  การลงทะเบียนรายชื่อผู้ตรวจ การจัดลำดับคิวตรวจ การเว้นระยะห่าง การประสานงานต่างๆ เพื่อให้การตรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็ว

ทั้งนี้การตรวจโควิดเชิงรุกของทีมแพทย์ชนบทจะใช้การตรวจแบบ rapid testing หรือชุดตรวจแบบเร็ว โดยใช้วิธี  ATK (antigentest kit) โดยแพทย์จะใช้ก้านสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากโพรงจมูกของผู้ตรวจ  แล้วนำก้านสำลีมาตรวจด้วยน้ำยา สามารถทราบผลได้ภายในเวลาประมาณ 30 นาที หากพบว่ามีผลเป็นบวกหรือติดเชื้อ  แพทย์จะตรวจซ้ำด้วยวิธี Rt-Pcr (Real  time – Polymerase chain reaction) เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน

กรณีผู้ติดเชื้อมีอาการไม่มาก (อยู่ในสถานะสีเขียวหรือเหลืองอ่อน) แพทย์จะให้คำแนะนำในการรักษาตัวที่บ้านหรือสถานพักคอยในชุมชน พร้อมกับให้ยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากเมื่อกินยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จะหายป่วยได้ภายในระยะเวลา 14 วัน แต่หากยังไม่หายหรือมีอาการรุนแรงจะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

กระทรวง พม.-พอช.หนุนชุมชนสู้โควิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563  นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของวิด เช่น แม่เลี้ยงเดี่ยว เด็ก ผู้สูงอายุ  คนป่วยติดเตียง ผู้พิการ คนตกงาน ฯลฯ โดยการมอบอาหาร นม สิ่งของจำเป็น จัดทำครัวกลางแจกจ่ายอาหารผู้ได้รับผลกระทบ

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดในปีนี้กระทรวง พม.ได้ให้หน่วยงานในสังกัดจัดทำถุงยังชีพแจกจ่ายแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯ ดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด เด็กที่ขาดผู้ดูแลรวมทั้งดูแลกลุ่มคนไร้บ้านในสถานที่สาธารณะ ฯลฯ

ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ในปี 2563 ได้สนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจัดทำครัวกลางและโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทรวม 1,754 โครงการประชาชนได้รับประโยชน์ 535,577 ครัวเรือนใช้งบประมาณรวม 122 ล้านบาทเศษ  และพักชำระสินเชื่อ 6 เดือน (ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อก่อสร้างบ้านมั่นคง) ทั่วประเทศ 409 องค์กร  รวมสินเชื่อพักชำระ 76 ล้านบาทเศษ

ส่วนในปีนี้ พอช.พักชำระสินเชื่อ 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม) รวม 149 องค์กร  จำนวนดอกเบี้ยที่พักชำระรวม 18 ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ พอช.ยังสนับสนุนการแก้ไขปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 1,386 ชุมชน ใช้งบประมาณรวม 30 ล้านบาท นอกจากนี้ยังส่งเจ้าหน้าที่อาสาสมัครจาก พอช. ผู้นำชุมชน ฯลฯ จำนวน 11 ทีม  ประมาณ 200 คนลงไปสนับสนุนชุมชนรวมทั้งศูนย์พักพิงของคนไร้บ้าน เพื่อต่อสู้กับโควิด เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้

เขตวังทองหลางจัดเตรียมศูนย์พักคอย-ดูแลผู้กักตัวที่บ้าน

นุชจรี พันธ์โสม เลขานุการสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง กล่าวว่า สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางมีสมาชิก 20 ชุมชน ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.ระดับเขตจำนวน 150,000 บาท  และระดับชุมชนไม่เกินชุมชนละ 40,000 บาท  นำมาจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือชาวชุมชนที่เดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากโควิด เช่น รณรงค์ให้ความรู้ป้องกันการแพร่เชื้อ ทำอาหารแจกให้ผู้ถูกกักตัว ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลาดุก เพื่อนำมาเป็นทำอาหาร และเป็นแหล่งอาหารสำรอง

“นอกจากนี้เรายังเตรียมสถานที่พักคอยในชุมชน (Community Isolation) เพื่อรองรับผู้ป่วย โดยจะใช้ศูนย์เด็กเล็กในชุมชน รองรับได้ผู้ป่วยได้ 10 เตียงและเตรียมห้องประชุมของชุมชนรองรับได้ประมาณ 30 เตียง ส่วนผู้ที่ป่วยไม่มากหรือมีสถานะสีเขียว เราจะให้กักตัวในบ้าน (Home Isolation) แยกตัวออกจากคนในครอบครัว โดยเราจะส่งข้าวกล่องให้ 3 มื้อ และประสานงานกับ สปสช.เพื่อจัดส่งยา เครื่องวัดอ๊อกซิเจน เพื่อวัดค่าและรายงานผลทางไลน์ให้ทางศูนย์สาธารณสุขทราบทุกวันเพื่อติดตามอาการและดูแลผู้ป่วย” นุชจรีบอกถึงการดูแลผู้ติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม นอกจากชุมชนในเขตวังทองหลางแล้ว  ยังมีชุมชนและเขตต่างๆ  ร่วมจัดทำโครงการเพื่อต่อสู้กับโควิดระลอกใหม่นี้ เช่น สภาองค์กรชุมชนเขตประเวศ  จัดทำโครงการอบรมให้ความรู้ป้องกันโควิดแก่กลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง จำนวน 20 วิน เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ขับมอเตอร์ไซต์รับจ้างได้รับเชื้อโควิดและเสียชีวิตแล้ว 1 ราย,ปลูกสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร กระชาย ผักต่างๆ เพื่อเป็นยาและอาหาร ทำโครงการ ‘อิ่มละ 20 บาท’ จำหน่ายอาหาร พร้อมข้าวถุงเพื่อช่วยเหลือเรื่องปากท้องชาวชุมชน ฯลฯ

เมืองบางบอน (สภาองค์กรชุมชนเขตบางบอน  กรุงเทพฯ) รวม 34 ชุมชน จัดทำโครงการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น ติดตั้งเครื่องสแกนอุณหภูมิวัดไข้ในชุมชน จำหน่ายอาหาร ข้าวสาร สิ่งของจำเป็นในราคาถูกให้แก่ชาวชุมชน แจกอาหารฟรีให้ผู้กักตัว กลุ่มเปราะบาง สนับสนุนชาวชุมชนปลูกผักสวนครัวเป็นอาหาร เพาะเห็ด  ปลูกฟ้าทะลายโจร กระชายขาว เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงยาและวัคซีน ฯลฯ

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลของชุมชนเครือข่ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  จำนวน 332 ชุมชน ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 พบว่า มีผู้สูงอายุ รวม 24,473 คน ผู้พิการติดเตียง รวม 11,610 คน ผู้สูงอายุ +พิกา รรวม 3,735 คน เด็กเล็ก 0-5 ปี  รวม 9,886 คน ผู้ติดเชื้อ รวม 4,078 คน ผู้กักตัว รวม 8,148 คน ผู้ได้รับผลกระทบด้านอาชีพรายได้ รวม 17,959 คน ชุมชนติดเชื้อสะสมจำนวน 421 ชุมชน ผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 3,551 คน เสียชีวิต รวม 59 คน

*****************