ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) มีมติเห็นชอบให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ภายหลังวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 สามารถจัดทำทะเบียนประวัติ และขอรับหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) เพื่อทำงานในกิจการประมงทะเลได้ พร้อมขยายระยะเวลาการดำเนินการออกไปอีก
วันที่ (7 มกราคม 2562) ที่ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพบก กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมประชุม
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาการดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเลเพิ่มเติม โดยสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2561 และกรมประมงได้ออกประกาศให้คนต่างด้าวจัดทำทะเบียนประวัติและยื่นคำขอรับ Seabook ระหว่างวันที่ 3 ธันวาคม 2561 – 31 มกราคม 2562 ขณะเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศเรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2561
จากตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ได้กำหนดให้แรงงานต่างด้าวที่จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานดังกล่าว ต้องเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรก่อนหรือในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 และ (1) ระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดลงแต่ไม่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร (2) ระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังเหลืออยู่ (3) ไม่มีรอยตราประทับตรวจหนังสือเดินทางขาเข้าในหนังสือเดินทาง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือหนังสือรับรองสถานะบุคคล แต่มีหลักฐานการจัดทำทะเบียนประวัติหรือบัตรประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาดังนี้ 1. มอบหมายกระทรวงมหาดไทย โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้ครอบคลุมคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายหลังวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 2. ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ออกไปอีก 3. ให้กระทรวงการต่างประเทศมอบอำนาจการตรวจลงตรา (Non Immigrant L-A) ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ดังนั้น เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ภายหลังวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 สามารถเข้าจัดทำทะเบียนประวัติ รับหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ขอรับการตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งจะสามารถจัดหาแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารแสดงตนอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาทำงานในกิจการประมงทะเลได้เพิ่มขึ้น ที่ประชุม กนร. ในวันนี้จึงมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดังนี้ 1. มอบหมายกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้ครอบคลุมคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายหลังวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 2. ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ออกไปอีก และ 3. ให้กระทรวงการต่างประเทศ มอบอำนาจการตรวจลงตรา (Non Immigrant L-A) ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลความคืบหน้าการจัดทำหนังสือคนประจำเรือ ตามมาตรา 83 ที่ศูนย์ OSS ว่า ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน – 4 มกราคม 2562 มีนายจ้าง จำนวน 1,901 ราย มาแจ้งความต้องการแรงงานต่างด้าว จำนวนทั้งสิ้น 25,920 คน แรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนคนประจำเรือตั้งแต่วันที่ 3-4 มกราคม 2562 จำนวนทั้งสิ้น 1,813 คน เป็นเมียนมา 1,080 คน คิดเป็นร้อยละ 59.56 ลาว 49 คน คิดเป็นร้อยละ 2.70 และกัมพูชา 684 คน คิดเป็นร้อยละ 37.72 ของผู้ที่มาจัดทำ Seabook โดยจังหวัดที่มาดำเนินการ 5 ลำดับแรกได้แก่ 1. ปัตตานี 2. ชุมพร 3. ตราด 4. ระยอง 5. สมุทรสงคราม