(27 ก.ค. 64)/กรุงเทพฯ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ จัดสัมมนาออนไลน์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านโปรแกรม ZOOM ในหัวข้อ “แนวทางความร่วมมือและบทบาทของเครือข่ายองค์กรชุมชน ในการจัดทำแผนงานขับเคลื่อน 5 ปี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ชุมชนภิวัฒน์ ทุนทางสังคม เครือข่ายองค์กรชุมชน พลังขับเคลื่อนประเทศไทยในโลกหลังโวคิด” โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นองค์ปาฐกถา ซึ่งมี ผู้นำขบวนองค์กรชุมชน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค กว่า 256 คน ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) กล่าวว่า เป้าหมายใหญ่ของการจัดทำแนวทางแผนงานภาคประชาชน ก็คืออยากให้เป็นแผนงานฯในพื้นที่ได้ถูกผลักดันไปสู่นโยบาย เรื่องต่อมาปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป ชุมชน สังคมได้เปลี่ยนไปเยอะ มันไม่เหมือนเดิมแล้ว ทำอย่างไรเราจะปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน การพัฒนาในพื้นที่จะสอดคล้องกับความเป็นจริง เช่นสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นอเราจะใช้รูปแบบเดิมในการการทำงานคงเป็นไปไม่ได้ จะโยงชุมชนกับโลกใบใหม่ให้ไปด้วยกันได้ยังไง เป็นจังหว่ะเดียวกันที่กระทรวง พม. อยากจะชวนชุมชนมาทำแผนกระทรวงฯ5ปี จะให้แต่ละจังหวัดไปทำกันเองคงจะเป็นไปได้ยาก จึงได้มีเวทีสัมมนาในวันนี้ เพื่อจะได้มีทิศทางเดียวกันทั้งประเทศในการจัดทำแผนงานฯ และต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานไปสู่รูปแบบ New Normal โดยผนึกกำลังจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันวางอนาคต มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชนในระดับพื้นที่ มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน เพื่อให้ทุกคนมีภูมิต้านทานต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.อว. ได้กล่าวถึง เมื่อโลกไม่ใช่ใบเดิม เรากำลังอยู่ในโลกที่ไม่ใช่ใบเดิม ควบคู่กับกระแสโลกาภิวัตน์ทางการเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหลอย่างเสรีของทุน สินค้า บริการ รวมถึงผู้คน พวกเรากำลังเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์ของความเสี่ยงและภัยคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤติเศรษฐกิจ รวมไปถึงการระบาดของโควิด-19 ที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ควบคู่ไปด้วย สัมพันธภาพในโลกหลังโควิด ภายใต้ “หนึ่งโลก หนึ่งชะตากรรมร่วม” ความเป็น “ปกติสุข” ของผู้คนในโลกหลังโควิด จะตั้งอยู่บน 2 หลักคิดสำคัญ คือ
1. “The Whole is Greater Than the Sum of Its Parts” 2. “A Group is Smarter Than Any of Its Members” ชีวิตในโลกหลังโควิดหัวใจสำคัญที่จะทำให้พวกเราอยู่ในโลกหลังโควิดอย่างเป็นปกติสุข ด้วยการสร้าง “ชีวิตที่สมดุล” (Balanced Life) ผ่านการ
1. เปลี่ยน “จุดเน้น”
2. ปรับ “กระบวนทัศน์”
3. ปลูก “จิตสำนึกพอเพียง” เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง อบอุ่น เข้าใจโลก เข้าใจถึงคุณค่าของการมีชีวิต และการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น จะกระทำให้เกิดผลก็ด้วย การพัฒนาทักษะความฉลาดรู้ในการใช้ชีวิต (Heart & Harmony) ควบคู่ไปกับ การพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อใช้ในการทำงาน (Head & Hands)
ดร.สุวิทย์ ได้กล่าวต่อไปว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นการผนึก 3 ภาคเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อาศัยใช้องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ สอดรับกับเป้าหมายของ “การปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ” 3 ประการ
1. สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก
2. เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
3. น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ตอบโจทย์แนวคิด “เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ด้วยเป็นการสานพลังทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะ “พหุภาคี” ระหว่างชุมชน ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายต่างประเทศ โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะสามารถตอบโจทย์ “ชีวิตวิถีใหม่สู่ความยั่งยืน “ ผ่านการสร้าง “ความมั่นคงของมนุษย์” ในโลกหลังโควิดได้เป็นอย่างดี
BCG เชิงพื้นที่จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวข้าม 3 กับดักสำคัญ คือ “กับดักรายได้ระดับปานกลาง” “กับดักความยากจน” และ “กับดักความขัดแย้ง” ก่อให้เกิดการเติบโตที่เพิ่ม Size of Pie ให้กับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนที่อยู่ที่ฐานรากของพีระมิด BCG เชิงพื้นที่จึงเป็นโมเดลการสร้างความมั่งคั่งแบบ “กระจายตัว” เน้นการเติบโตที่เติมเต็ม “พลังชุมชน” มุ่งยกระดับมาตรฐานและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยส่วนใหญ่ (Well-beings of the Mass) เป็นสำคัญ ดร.สุวิทย์ กล่าวสรุปในตอนท้าย
หลังจากนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอแนวทางการจัดทำแผนงานขับเคลื่อน 5 ปี กระทรวง พม.ฯ ของเครือข่ายองค์กรชุมชน โดยมีข้อสรุปดังนี้
- พัฒนาผู้นำชุมชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง (เป้าหมายจากผู้นำตามธรรมชาติ) ให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง/ผู้นำยุคใหม่ รวมทั้งการสร้างอาสาสมัครพัฒนาชุมชนของหน่วยงานในทุกระดับ
- รับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางการดำเนินงานของชุมชน และวางแผน เสนอแผนงานในการพัฒนาของชุมชนร่วมกัน
- เปิดช่องทางให้มีการนำเสนอข้อมูล จัดทำแผนพัฒนาชุมชนให้เป็นที่รับรู้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานประสานงานร่วมในระดับพื้นที่ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดทำกิจกรรม และพัฒนาชุมชน
- ให้มีกลไกการสนับสนุนการดำเนินงาน หนุนเสริมจากพื้นที่ในทุกระดับ / กลไกของหน่วยงานในการเชื่อมโยง ประสานงานร่วมกับภาคประชาชน และให้ดำเนินงานไปตามเป้าหมายด้วยทิศทางเดียวกัน เชื่อมโยงตำบลให้เกิดการบูรณาการ จัดทำแผนของชุมชน เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้งให้ชุมชนเป็นช่องทางในการเชื่อมโยงแผน เกิดการพัฒนา ปรับปรุงแผนและกลไกการขับเคลื่อนงาน และสร้างความเข้มแข็งตามโมเดลรูปแบบการพัฒนาของชุมชน
- สร้างความสมดุลเท่าเทียมให้เกิดกับชุมชนในทุกมิติ พร้อมกับส่งเสริมภูมิปัญญาเดิมของชุมชน แนวคิดการอยู่แบบพอเพียง (ในระบบเศรษฐกิจพอเพียง) เพื่อการสร้างโอกาสให้ชุมชน ลดการด้อยค่าของชุมชนให้ลดน้อยลง