เพกา หรือ ลิ้นฟ้า หมากลิ้นฟ้า เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน มีการใช้มานาน เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด และบำรุงร่างกายของคนสมัยก่อน มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย โดยพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณและป่าชื้นทั่วไป ถึงแม้ว่าเพกาจะขึ้นอยู่ในหลายประเทศ แต่ดูเหมือนจะมีแต่ชาวไทยเท่านั้นที่นำเพกามากินเป็นผัก เป็นอาหารในชีวิตประจำวัน
ฝักอ่อนเพกา มีวิตามินซีสูงมาก ช่วยบำรุงร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อม ส่วนที่นิยมกินกันก็คือ ยอดอ่อน ฝักอ่อน เช่น ลวกจิ้มน้ำพริก ราดกะทิ เผาไฟแล้วซอยทำยำ
มีงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากผล(ฝัก) ของเพกา ที่ความเข้มข้นสูง (200 μg mL− 1) มีฤทธิ์ต้านการสะสมของไขมันในเซลล์ไขมัน (Antiadipogenesis) ได้เทียบเท่ายา simvastatin สารสำคัญในการออกฤทธิ์เป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ baicalein และ chrysin จากผลการศึกษานี้ คาดว่าจะนำเพกามาใช้ในการพัฒนาเป็นยาลดไขมันในเลือดและป้องกันโรคอ้วนได้
การศึกษาเบื้องต้นทางคลินิก พบว่า การรับประทานแคปซูลเพกา ขนาด 400 มิลลิกรัม/แคปซูล มีส่วนประกอบ คือ เพกา, ขิง และกระชาย ครั้งละ 3 แคปซูล (1.2 กรัม) วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ มีผลในการลดระดับไขมันตัวร้ายแอลดีแอล ได้ประมาณร้อยละ 5 *มีนัยสำคัญทางสถิติ
ประโยชน์อื่นๆ ของเพกา
- เมล็ดของเพกามีรสเย็น เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ผสมอยู่ในน้ำจับเลี้ยงของจีน เป็นยาเย็น มีฤทธิ์แก้ไอขับเสมหะ
- ในฝักเพกา มีวิตามินซีสูงมากถึง 484 มิลลิกรัม/100กรัม สูงพอๆกับมะขามป้อมที่ได้ชื่อว่ามีวิตามินซีสูงที่สุด ในบรรดาผลไม้ทั้งหลาย ในขณะที่มะนาวแหล่งวิตามินซีที่คนทั่วไปรู้จัก มีเพียง 20 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม นี่คงเป็นสาเหตุให้ ฝักเพกามีชื่อเสียงในด้านการป้องกันโรค ทำให้ไม่เจ็บป่วย สู้กับหวัดได้ทุกสายพันธุ์
- ใบ เป็นยาเย็น เป็นส่วนประกอบสำคัญในยาเขียว สรรพคุณฝาด ขม แก้ปวดข้อ แก้ปวดท้อง เจริญอาหาร
- ราก รสฝาดขมร้อน เป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร ขับเสมหะ ขับน้ำออกจากร่างกายเป็นยาแก้ท้องร่วง ฝนกับน้ำปูนใสทาแก้อักเสบฟกบวม
- เปลือกต้น รสฝาด เย็น ขมเล็กน้อย สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย ดับพิษโลหิต แก้ไข้ เจริญอาหาร แก้เสมหะ ขัยเสมหะ บำรุงโลหิต ขับเลือดเน่า ทาแก้ปวดฝี บม
- เมล็ด ต้มกินเป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ
- ยอดอ่อน กินเป็นผักสด ลวกกิน เผากินได้
ข้อควรระวัง
- หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทาน เพราะมีฤทธิ์ร้อน โดยอาจทำให้แท้งบุตรได้
- ควรระวังในการใช้เพการ่วมกับยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด เช่น แอสไพริน (aspirin) ,วาฟาริน (warfarin) , สารสกัดแปะก๊วย (Ginko biloba)
- เพกาเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้
- เมล็ดแก่ มีพิษ ห้ามกินดิบ
แหล่งอ้างอิง
Hengpratom T, et al. Antiadipogenesis of Oroxylum indicum (L.) Kurz Extract via PPARγ2 in 3T3-L1 Adipocytes. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine 2020
สอบถามปรึกษาการใช้ยาได้ที่
ไลน์คลินิกแพทย์แผนไทย @abhthaimed หรือคลิกลิ้งค์ https://lin.ee/47PRVjiFz