กรรมการคสป.ยื่นหนังสือลาออก สกัดการฉวยโอกาสออกกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ ชี้ทำลายเสรีภาพกิจกรรมเพื่อสังคม

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่19ก.ค.นี้ จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการ คสป. เพื่อชี้แจงความคืบหน้า มติคณะรัฐมนตรีเรื่อง ร่างกฎหมายควบคุมองค์กรภาคประชาชน หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ….. ผู้เข้าร่วมประชุมจะมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือว่าเป็นการทำลายเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนขั้นรุนแรง เพราะต้องจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งการเข้ามาตรวจสอบการสื่อสารในสื่อออนไลน์ต่างๆโดยไม่ต้องขออนุญาต นอกจากนี้ยังขาดหลักประกันของประชาชนที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆที่มีผลต่อการพัฒนาในระดับปัจเจก ระดับชุมชน ที่ต้องการให้เสียงประชาชน ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อการพัฒนาของรัฐ และกฎหมายนี้ยังมีโทษอาญา ที่รุนแรงถ้าไม่ปฏิบัติตาม เท่ากับว่าเห็นการรวมกลุ่มของประชาชนเป็นอาชญากร

“ผมในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ มิอาจรับร่างกฎหมายนี้ได้ และกรรมการชุดนี้มีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนการรวมกลุ่มภาคประสังคมชนเป็นหลัก การทำแบบนี้ ถือเป็นการทำลายเสรีภาพการรวมกลุ่มประชาชน ผมจึงขอลาออกและจะยื่นจดหมายลาออกอย่างเป็นทางการจากกรรมการชุดนี้ และไม่ขอร่วมประชุมที่เกิดขึ้นและเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ฉวยโอกาสใช้คณะกรรมการชุดนี้เป็นเครื่องมือ เพื่อเอากฎหมายมาเป็นช่องทางควบคุมประชาชนมากกว่าสนับสนุน ซึ่งเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้ขาดอำนาจต่อรอง และส่งเสียงต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม เกิดเป็นช่องว่างทางชนชั้น และการพัฒนามากขึ้นในอนาคต” นายจะเด็จ กล่าว

นางสาวสุภาวดี เพชรรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะ กรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีความจริงใจในการสนับสนุนและพัฒนาความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม แต่ในทางกลับกันได้พยายามที่จะผลักร่าง พรบ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรมาแบ่งปัน ต้องการควบคุมสิทธิเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชน โดยให้ภาคประชาชนที่ต้องการรวมกลุ่มต้องจดแจ้งกับกรมการปกครอง ถ้าไม่จดแจ้งจะมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ รวมทั้งสามารถเข้าไปในสถานที่ทำงานและเรียกข้อมูลทางอิเล็กโทรนิกส์ต่างๆ ได้ และการดำเนินงานต้องอยู่ภายใต้การกำหนดของ รมต.กระทรวงมหาดไทย ซึ่งในปัจจุบันองค์กรภาคประชาสังคมที่ต้องการจดทะเบียนมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว และต้องทำรายงานการเงิน รายงานการทำงานให้หน่วยงานรัฐทุกปี

นางสาวสุภาวดี กล่าวว่า ก่อนที่จะมีร่าง พรบ.ฉบับนี้รัฐบาลไม่ได้เชิญคณะกรรมการชุดนี้มาปรึกษาหารือแต่อย่างใด กรรมการ คสป.ในส่วนผู้แทนขององค์กรภาคประชาสังคมไม่เคยมีใครรับทราบเรื่องนี้มาก่อน กรรมการที่เป็นผู้แทนจากภาคประชาสังคม ได้ทำหนังสือเพื่อขอให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ และเดินหน้าเพื่อให้ ร่าง พรบ.นี้ผ่าน ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมได้พยายามผลักดัน ร่าง พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม โดยมีเจตนารมณ์ชัดเจนว่าภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ที่ไม่ใช่ภาครัฐและภาคเอกชนเท่านั้น ได้พยามผลักดัน ร่าง พรบ.ฉบับบนี้ก่อนมีรัฐประหารปี 2557 และหลังจากนั้นได้เข้าชื่อเสนอร่าง กฎหมายจากประชาชน โดยเนื้อหาที่สำคัญคือให้มีความเป็นอิสระและมีกองทุนส่งเสริมพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม แต่ดูเหมือนว่าร่างที่ประชาชนเสนอไปหายเงียบ แต่กลับมีร่าง พรบ.ที่ต้องการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มาแทนที่

“สิ่งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และไม่ได้ทำตามสิทธิที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และตามหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ไทยได้ไปลงนามไว้ ดังนั้นการประชุมวันที่19 นี้ เป็นการประชุมที่น่ากังวลว่ารัฐจะใช้เป็นข้ออ้างว่าได้ปรึกษา คณะกรรมการ คสป แล้ว เพื่อเดินหน้าผลักดัน ร่าง พรบ.ที่ต้องการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชน และไม่ฟังเสียงของประชาชน โดยวันจันทร์ที่19 ก.ค.นี้ เตรียมจะยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม อย่างเป็นทางการ” นางสาวสุภาวดี กล่าว

//////////////////////////