กระทรวงสาธารณสุขเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ส่วนกลาง และ 16 จังหวัด เตรียมพร้อมรับสถานการณ์พายุปาบึก ป้องกันสถานบริการ และไม่กระทบบริการประชาชน เตรียมแผนรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลพื้นที่ชายทะเล เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎรธานี สงขลา
บ่ายวันนี้ (3 มกราคม 2562) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาคาร 5 ชั้น 7 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ส่วนกลาง พร้อมประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอติดตามการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพื้นที่เสี่ยง 16 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์
นายแพทย์สุขุมกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ส่วนกลาง เพื่อการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และเป็นศูนย์ประสานงาน สื่อสาร สั่งการ เชื่อมโยงหน่วยงานสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์พายุปาบึก ประสานการทำงานกับ EOC จังหวัดแต่ละจังหวัดอย่างใกล้ชิด ให้ดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสถานบริการ และไม่กระทบต่อการจัดบริการประชาชน
นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ได้รับรายงานว่า ขณะนี้ทั้ง 16 จังหวัด ได้เปิดศูนย์ EOC จังหวัด และดำเนินการตามแผนรับมือ เช่นโรงพยาบาลเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ย้ายผู้ป่วยหนัก 2 คนไปโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เตรียมป้องกันอาคารสถานบริการ เตรียม กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ เคลื่อนย้ายอุปกรณ์การแพทย์ เวชภัณฑ์ไว้ในที่สูง สำรวจความแข็งแรงรั้ว ป้ายประกาศ ไฟส่องสว่าง ตัดแต่งต้นไม้ รื้อถอนสิ่งที่เป็นอันตราย เตรียมทรัพยากรสำหรับดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล เช่น ยา เวชภัณฑ์ วัสดุการแพทย์ ออกซิเจน น้ำดื่มและอาหาร เตรียมแผนรับย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ทะเล เช่น โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เตรียมรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลขนอม โรงพยาบาลท่าศาลา โรงพยาบาลสิชล โรงพยาบาลปากพนัง โดยประสานกับทหารและป้องกันบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ เตรียมที่พักที่ปลอดภัยสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนที่ประสบภัย ประสานชุมชนและอสม.ในการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด และผู้ที่ต้องได้รับยาประจำให้มียาเพียงพอ และเตรียมทีมเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่น ชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ชุดปฏิบัติการแพทย์สนามฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ หรือทีมเมิร์ท (MERT : Medical Emergency Response Team) ทีมมินิ-เมิร์ท (mini- MERT) ทีมฟื้นฟูเยียวยาทางสุขภาพจิต (MCATT) ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อมไว้พร้อมแล้ว นอกจากนี้ ที่จังหวัดสงขลา ได้จัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำศูนย์อพยพ เพื่อดูแลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ป้องกันควบคุมโรค
ทั้งนี้ ได้ให้เขตสุขภาพที่ 3 – 6 เตรียมพร้อมให้การสนับสนุนจังหวัดที่ได้รับผลกระทบหากได้รับการร้องขอทันที โดยสามารถประสานงานได้ที่เบอร์ 02 590 1934 Line ID : 09 2251 1771 และE – mail : pher.moph@gmail.com