วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ภายใต้การอำนวยการของ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นางไพรวัลย์ คำจริง พัฒนาการอำเภอโขงเจียม พร้อมด้วย นายภิญโญ บุญยงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์กลาง เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรม Kick off เอามื้อสามัคคีแปลง “โคก หนอง นา ดะละงาย” พร้อมปลูกผักสวนครัว และพืชสมุนไพร ณ แปลงพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (Househole Lab Model for quality oflife : HLM) ของนายพินิจนันท์ ทองเสริม จำนวน 1 ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านซะซอม หมู่ที่ 7 ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี นั้น ตั้งอยู่ตะวันออกสุดของประเทศไทย ได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จากทางรัฐบาล ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 813,600 บาท มีพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 18 แปลง แบ่งเป็นพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) ทั้ง 18 แปลง และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 18 แปลง งบประมาณ 813,600 บาท รวม 36 แปลง งบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,627,200 บาท และมีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นตพ.) จำนวน 8 คน ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
สำหรับกิจกรรมการ Kick off เอามื้อสามัคคี และพร้อมปลูกผักสวนครัว และพืชสมุนไพร ณ แปลง “โคก หนอง นา ดะละงาย” ประกอบด้วย การปลูก หญ้าแฝก การปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชสมุนไพร ได้แก่ กล้วย มะม่วง มะขาม ไผ่กิมซุง ขนุน พยุง ยางนา ประดู่ กระชาย ฟ้าทะลายโจร การห่มดินด้วยฟางและใบไม้ นอกจากนี้ยังได้สาธิตการทำน้ำหมักมูลสัตว์ สาธิตการทำปุ๋ยหมักแบบกลับกอง เรียนรู้เทคนิคการปลูกไม้ผล รวมทั้งการถอดบทเรียนจากกิจกรรมเอามื้อสามัคคี จากการดำเนินงานในครั้งนี้ ซึ่งนายพินิจนันท์ ทองเสริม เจ้าของแปลง ได้แสดงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ว่า “รู้สึกโชคดีที่ได้รับโอกาสจากกรมการพัฒนาชุมชน ในการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ เริ่มจากการเข้ารับการฝึกอบรมจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี ทำให้ได้ความรู้ ได้เพื่อน และมีเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจนถึงปัจจุบัน โดยตนเองมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่พัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา โดยตั้งชื่อสวนแห่งนี้ว่า “โคก หนอง นา ดะละงาย” ซึ่งคำว่า “ดะละงาย” หมายถึงน้ำที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ ที่ผุดจากชั้นหินที่มีในธรรมชาติเสมือนน้ำแร่บริสุทธิ์ และมีอยู่ในบริเวณใกล้เคียง หากใครมาเยือนสถานที่แห่งนี้สามารถตักน้ำบริสุทธิ์นี้กลับไปอุปโภค บริโภคได้ด้วย นอกจากนั้น ในอนาคตอันใกล้ สวนแห่งนี้จะวางแผนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบครบวงจร และเป็นศูนย์แบ่งปันให้กับชาวบ้านและบุคคลทั่วไป ได้แวะเวียนมาเยือน พร้อมมอบผลผลิตภายในสวนเพื่อแบ่งปันให้กับคนอื่น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ให้กับบุคคลทั่วไป สร้างภูมิรู้ให้กับผู้ที่สนใจด้วยความเต็มใจ รวมถึงสร้างเครือข่ายในพื้นที่ เช่น กลุ่มโฮมสเตย์ซะซอม กลุ่มป่าสมุนไพรแสงแรก กลุ่มสวนเกษตรริมโขง เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มาเยือนเกิดความคุ้มค่า ประทับใจและกลับมาเยี่ยมเยือนอีกครั้ง
ขณะที่ นางไพรวัลย์ คำจริง พัฒนาการอำเภอโขงเจียม ได้พบปะกับเจ้าของแปลงครัวเรือนพัฒนา และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) พร้อมชื่นชมแปลงที่ดำเนินการได้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยว่า “ถือว่าทุกท่านโชคดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากโครงการฯ ในครั้งนี้ ซึ่งเกิดจากแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 สืบสาน รักษา และต่อยอด สู่รัชกาลที่ 10 การยึดหลักกสิกรรมธรรมชาติในการพัฒนาพื้นที่ หากเจ้าของแปลงหรือนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) มีเหตุขัดข้องหรือข้อสงสัย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยทันที เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน อันจะทำให้โครงการฯ สามารถดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนโดยเร็ว มีแปลงตัวอย่างที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบแก่คนในพื้นที่ สามารถการพึ่งตนเองให้รู้จักสร้างทางรอดในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อไป”
พัฒนาการอำเภอโขงเจียม ยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า “กรมการพัฒนชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน ในพื้นที่แปลงโดยปลูกผักสวนครัว เช่น กล้วย 5 หน่อ มะละกอ 5 ต้น พืชสวนครัว อื่นๆ โดยเฉพาะ ขิง ตะไคร้ กะเพรา โหระพา บวบ รวมถึงพืชสมุนไพร เช่น กระชาย ฟ้าทะลายโจร ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว กะเพรา โหระพา และพริก โดยเฉพาะการปลูกกระชาย ขิง ฟ้าทะลายโจร เพราะถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันโควิด-19 และบรรเทาอาการเบื้องต้นของไข้หวัด หรือป้องกันการติดเชื้อได้ โดยพบว่าสารสกัดของกระชายขาว สามารถแสดงฤทธิ์ในการต้านไวรัสทั้งในระยะก่อนและหลังการติดเชื้อนอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้การรับรองแล้วว่ามีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ โดยให้รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ วันละ 180 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย จะเห็นได้ว่าสมุนไพรไทยมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์อย่างมากมายจนทั่วโลกให้การยอมรับ จึงเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่สามารถนำมาช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนรอดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เป็นอย่างดี สุดท้ายนี้ ขอฝากให้ทุกท่านได้ร่วมกันสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร ให้เกิดความต่อเนื่อง ให้เป็นทั้งอาหารและยารักษาโรคต่างๆ หลายโรค รวมถึงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน และความรักห่วงใยพี่น้องประชาชน จากท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน”
จะเห็นได้ว่าในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ที่จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เมื่อเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ ถือว่ามีความเสี่ยงที่น้อย แต่กลับได้ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าและทั่วถึงตามหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นหลักประกันในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ซึ่งรัฐบาลก็ยังให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าว จากการได้รับอนุมัติงบประมาณกว่า 4,700 ล้านบาท ภายใต้งบเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกระดับขีดความสามารถของชุมชนให้พึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี และ สพอ.โขงเจียม.. ภาพข่าว/รายงาน