วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นางสาวเบญจมาศ วงษ์สุวรรณ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 15 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน พร้อมด้วยนางอภิญญา โกมลรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง และเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ร่วมกิจกรรมร่วมแรงพุธพัฒนา เตรียมแปลงปลูกพืชสมุนไพร เพิ่มแหล่งความมั่นคงทางอาหาร ขยายผลการปลูกพืชผักสวนครัวด้วยพืชสมุนไพรไทย เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านภัย โควิด-19 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง
นางสาวเบญจมาศ วงษ์สุวรรณ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 15 เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนการขยายผลการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร (รอบ 2) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพลังความต่อเนื่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ยั่งยืน และเพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ระยะสั้น ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ
ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปางเป็นศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนา ได้จัดกิจกรรมร่วมแรงพุธพัฒนา เพื่อเป็นแบบอย่างและรณรงค์ให้ประชาชนหันมาปลูกพืชผักสวนครัว ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน ให้ทุกครัวเรือนมีผักปลอดภัยไว้บริโภค สามารถลดรายจ่าย และสร้างรายได้ระยะสั้น และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ยังได้ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาปลูกพืชสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณทางยามากมาย เป็นทั้งอาหารและยารักษาโรค ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย อาทิเช่น ขิง ข่า กระชาย ขมิ้นชัน ขมิ้นขาว ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ได้เตรียมแปลงสำหรับปลูกพืชสมุนไพร ด้วยการปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มความสมบูรณ์ในแปลงเพาะปลูก กำจัดวัชพืช พรวนดิน ห่มดิน “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช” ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเตรียมพื้นที่แปลงให้เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก ตลอดจนเตรียมต้นพืชสมุนไพรเพื่อนำไปเพาะปลูก จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ขิง ข่า กระชาย ขมิ้นชัน ขมิ้นขาว ที่ได้จากพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ศพช.ลำปาง ด้วยการแยกหัวและหน่อ เพื่อนำไปใช้เพาะปลูกและขยายพันธุ์พืช
ในการนี้ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปางได้รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ในวงกว้าง เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในหลายภาคส่วน พร้อมผลักดันแผนการส่งเสริมและรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวในทุกครัวเรือน สร้างชุมชนเข้มแข็งการพึ่งตนเองได้และเกิดความสามัคคีของคนในชุมชน และเพื่อเป็นการต่อยอดขยายผลการดำเนินงานปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับหมู่บ้าน / ชุมชนให้มีความยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนทางอาหารได้ในที่สุด