ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าสำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญอย่างมากต่อภารกิจเดินหน้าเสริมสร้างความรู้ด้านประกันภัยที่มีความถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์แก่ประชาชน รวมถึงการพัฒนาช่องทางการสื่อสารต่างๆ ให้เข้าถึงประชาชนในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด เนื่องจากขณะที่ธุรกิจประกันภัยมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่องและการพัฒนาของดิจิทัลเทคโนโลยีทำให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นด้วยผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้หลากหลายมากขึ้น แต่ยังพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัย ทำให้มีข้อพิพาทจากสัญญาประกันภัยเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การรับฟังเสียงสะท้อนและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนเพิ่มเติมจากที่ สำนักงาน คปภ. ได้มีการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนด้านการประกันภัย (Insurance Literacy) ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันหรือมาตรการต้นน้ำเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ประชาชน ล้วนเป็นปัจจัยหลักที่ สำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2560 สำนักงาน คปภ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัยขึ้น ซึ่งมีองค์ประกอบที่มาจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ได้แก่ สำนักงาน คปภ. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย ฯลฯ เพื่อเพิ่มกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลรับฟังสภาพปัญหา และระดมข้อคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 โดยคณะกรรมการฯได้ร่วมกันกำหนดทิศทางนโยบาย 5 มาตรการสำคัญ ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยให้กับประชาชน การกำกับดูแลโฆษณาที่เกี่ยวกับประกันภัยเกินจริง การแก้ไขปัญหาการร้องเรียนซ้ำซ้อน การคุ้มครองผู้พิการด้านการประกันภัย และการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย ซึ่งสำนักงานฯได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและมีผลงานที่ปรากฏเป็นรูปธรรมในหลายๆเรื่อง
และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัยได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของ สำนักงาน คปภ. ตาม 5 มาตรการสำคัญ โดยที่ประชุมได้แสดงความชื่นชมว่าการดำเนินงานตามมาตรการทั้ง 5 ด้าน ของ สำนักงาน คปภ. นั้นมีผลงานปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัยในทุกมิติ จึงควรที่จะดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะโครงการที่เข้าถึงประชาชนในชนบท เช่น โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ควรจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยอาจปรับปรุงรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาใหม่ๆที่เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น โดยควรมีการลงพื้นที่ล่วงหน้าเพื่อสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แนะนำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวกับสุขภาพเพื่อให้ระบบประกันภัยเข้ามาเป็นภูมิคุ้มกันด้านการบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนในชุมชน และควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานล่วงหน้าผ่านสื่อต่างๆในพื้นที่ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดกับโครงการ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ข้อเสนอแนะในด้านวิธีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในวงกว้างว่าควรจะใช้ช่องทางออนไลน์ให้หลากหลายมากขึ้น และมีรูปแบบที่เข้าใจง่าย เช่น ทำเป็นไลฟ์สด หรือทำเป็นคลิปสั้นๆเพื่อนำมาเผยแพร่ในยูทูป เป็นต้น รวมถึงการเร่งพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในด้านประกันภัย อาทิเช่น การบริหารจัดการด้านค่าสินไหมทดแทน หรือการสืบค้นข้อมูลต่างๆ เป็นต้น
“สำนักงาน คปภ. จะได้นำเอาข้อแนะนำต่างๆของคณะกรรมการฯมาปรับปรุงแนวทางในการให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่ประชาชนและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในปี 2562 สำนักงาน คปภ. จะยังคงเดินหน้าในทุกมิติเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ทั้งการพัฒนาระบบสารสนเทศสนับสนุนงานคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทน รวมทั้ง การส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกระดับ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยและได้รับการคุ้มครองด้านการประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม อันจะเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมประกันภัยไทยทั้งระบบได้รับความน่าเชื่อถือและเป็นเสาหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคง ยั่งยืนตลอดไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในที่สุด