วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น. นายจำเริญ แหวนเพ็ชร พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภครายครัวเรือนและเอกชนผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนา คุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือน (HLM) ขนาด 3 ไร่ ณ แปลงครัวเรือนต้นแบบ นางสาวแก้วทิพย์ สมพรหวัง บ้านหนองหญ้าปล้อง หมู่ที่ 2 ตำบลซับสมบูรณ์ อำเภอโคกโพธิ์ไชย จังหวัดขอนแก่น
ในการนี้นางพรพิมล เทพาจันทรักษ์ พัฒนาการอำเภอโคกโพธิ์ไชย กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม เพื่อสร้างแรงผลักดันและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันด้วยการน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “สืบสาน รักษา และต่อยอด” พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประยุกต์สู่การปฏิบัติ ตาม “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นชุมชนผ่านการสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบ่าดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และในวันนี้มีภาคีเครือข่ายการพัฒนาเข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย นายอธิปพัฒน์ กุลพัฒน์วัชรากร ท้องถิ่นอำเภอโคกโพธิ์ไชย, เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน, นายสุโขชินอาจ กำนันตำบลซับสมบูรณ์,ผู้นำชุมชน ผู้นำอช. ผู้นำสตรี , นายช่าง อบต., ครัวเรือนต้นแบบโครงการพัฒนา พื้นที่ต้นแบบฯ โคก หนอง นา โมเดล ,นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.), อาสาสมัครและภาคีเครือข่าย รวมทั้งสิ้น 35 คน ร่วมกิจกรรมการเอามื้อสามัคคี
– ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง แล้ว ห่มดินด้วยฟางข้าว บำรุงด้วยปุ๋ยอินทรีย์ (แห้งชาม น้ำชาม) ตามคันนาทองคำ และบนโคก ตามทฤษฎีปลูกไม้ 5 ระดับ
– ห่มดิน บริเวณขอบคันนาทองคำ และตะพักบ่อ ปลูกหญ้าแฝก เพื่อรักษาความชุ่มชื้น เลี้ยงพระแม่ธรณี และ ป้องกันกัดเซาะหน้าดิน
– กิจกรรมปล่อยปลากินพืช คือ
ปลานิล ปลาตะเพียน
– กิจกรรมทำลูกระเบิดอินทรีย์ และ กิจกรรมทำลูกบอลอาหาร
ทำกิจกรรมพร้อมอธิบายเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ จาก ครูพาทำ นพต. เจ้าของแปลง ผ่านการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันพัฒนาพื้นที่ เกิดความรัก ความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน ส่งผลต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน อย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการรื้อฟื้นเอาวิถีชีวิตดั้งเดิมวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทยกลับมาปฏิบัติให้เกิดการปฏิบัติตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ รวมทั้งสร้างความ เป็นจิตอาสาพัฒนาชุมชน จนเกิดเครือข่ายที่มีพลัง ความสามัคคีและขยายผลสู่ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า วันนี้ มีครัวเรือนยากจน ตามโครงการ คู่เสี่ยวเกี่ยวก้อยแก้จน คนขอนแก่น 3 ครอบครัว มารับเมล็ดพันธุ์ผัก เครื่องอุโภคบริโภค เมื่อดำเนินการโครงการเสร็จสิ้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน กล่าวคือ พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น และมีเหลือจะมีการแบ่งปัน หรือนำไปขายช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือนที่ผ่านการพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบ ซึ่งในปีแรกจะเป็นเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือน/ชุมชน โดยเฉพาะเรื่องการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายเท่ากับเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน สามารถเป็นแหล่งอาหารหลักเลี้ยงดูคนในชุมชน ระยะต่อมาเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าปลูกใหม่ตามทฤษฎี ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งผลผลิตจะสามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำฝนในพื้นที่ดำเนินงานโครงการฯ รวมถึงโครงการนี้ยังช่วยเพิ่มการจ้างงานด้วยการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยการเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตำบล และระดับครัวเรือน จ้างงานคนละ 9,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 12 เดือน กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการโครงการฯ โดยคำนึงถึงความถูกต้อง โปร่งใส สุจริต ยึดถือระเบียบข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน รวมถึงเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อันเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโคกโพธิ์ไชย ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด อาทิ การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอลล์และการเว้นระยะห่าง ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายในท้องที่จังหวัดขอนแก่น
—-ขอนแก่น : เมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่—- ภาพถ่าย ทีมข่าว สพอ.โคกโพธิ์ชัย
ข่าว กลุ่มงานสารสนเทศฯ สพจ.ขอนแก่น