วธ.จัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ 2564 ขยายอุตสาหกรรมภาพยนตร์อาเซียนสู่นานาชาติ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กำหนดนโยบายส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และขยายตลาดภาพยนตร์อาเซียนสู่ระดับนานาชาติ รวมถึงผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทำ ผลิต เผยแพร่ และจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน  (Hub of ASEAN) อีกทั้งเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3  (พ.ศ.2560-2564) ที่มุ่งใช้มิติวัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทย และผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.บูรณาการความร่วมมือกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ หน่วยงานรัฐและเอกชนเตรียมจัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2564 (Bangkok Asean Film festival 2021) ในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งมีกิจกรรมประกอบด้วย

(1.)การจัดฉายภาพยนตร์ ณ โรงภาพยนตร์ ได้แก่ ภาพยนตร์อาเซียนฉายโชว์ภาพยนตร์จากประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนและทวีปเอเชีย(จีน, ญี่ปุ่น,เกาหลีใต้,อินเดีย) ซึ่งคัดเลือกภาพยนตร์จากประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนและประเทศในทวีปเอเชีย รวม 12 เรื่อง จัดฉายเรื่องละ 2 รอบ และฉายภาพยนตร์อาเซียนทรงคุณค่า จัดโดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) รวมทั้งภาพยนตร์สั้นอาเซียนที่ชนะการประกวดรางวัลจัดฉาย 3 เรื่อง ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิล์ด ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และโรงภาพยนตร์ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ

(2.)การประกวดภาพยนตร์สั้นอาเซียน เปิดรับสมัครผลงานภาพยนตร์สั้นที่สร้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์จากภูมิภาคอาเซียนความยาวไม่เกิน 30 นาที สร้างขึ้นหลังจากวันที่ 1 มิถุนายน 2563 และยังไม่เคยออกฉายในประเทศไทย ซึ่งภาพยนตร์สั้นที่ชนะการประกวด มี 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ รางวัลรองชนะเลิศและรางวัลชมเชย

(3.) การประกวดโปรเจ็คภาพยนตร์อาเซียน เปิดรับสมัครโปรเจ็คภาพยนตร์ขนาดยาวโดยผู้ผลิตภาพยนตร์จากภูมิภาคอาเซียนที่มีไอเดียในการผลิตภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโปรเจ็คภาพยนตร์ที่ชนะการประกวดมี 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ รางวัลรองชนะเลิศ และรางวัลชมเชย ทั้งนี้   โปรเจ็คที่ผ่านการคัดเลือกผู้กำกับและโปรดิวเซอร์จะได้เข้าร่วมอบรมพิเศษออนไลน์ด้านการนำเสนอโปรเจ็คกับผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ

(4.) การสัมมนาด้านภาพยนตร์ หัวข้อ“ทิศทางอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยภายหลังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” ณ ศูนย์ประชุมชั้น 8 กระทรวงวัฒนธรรม โดยขอเชิญชวนผู้ผลิตภาพยนตร์ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมประกวดภาพยนตร์สั้น และโปรเจ็คภาพยนตร์ขนาดยาว ซึ่งทั้งสองกิจกรรมนี้ สิ้นสุดการรับสมัครในวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ดูรายละเอียดได้ที่ www.baff.go.th และ https://www.facebook.com/BangkokAseanFilmFestival

นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า ประเทศไทยโดย วธ.ริเริ่มจัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2558 และดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 7 ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตเชิงวัฒนธรรมและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของชาติสมาชิกอาเซียนและระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเคร่งครัด