พช.ไชโย ทำสำเร็จ ปิดจ๊อบงานขุด “โคก หนอง นา พช”

วันที่ 4 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.00 น. พ.อ.อ.ทรงพล ฉายแสง พัฒนาการอำเภอไชโย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอไชโย และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม แปลงของนางอุดม หล่อโลก เจ้าของแปลง จำนวน 1 ไร่ อัตราส่วน 1:2 ประเภทดินร่วนปนทราย ณ หมู่ที่ 6 บ้านหางบางศาลา ตำบลชัยฤทธิ์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา พช. (งบเงินกู้) ซึ่งได้ดำเนินการขุดปรับปรุงพื้นที่เป็นแปลงสุดท้ายของงบเงินกู้แล้วเสร็จในวันนี้

ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไข ปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถาณการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช” เพื่อเกิดกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม การพึ่งพาตนเอง สามารถบริหารจัดการชุมชนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน

จังหวัดอ่างทอง ได้รับจัดสรรงบประมาณ โครงการฯ ภายใต้กรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถาณการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล พื้นที่ครัวเรือนต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 34 แปลง และขนาดพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 10 แปลง รวมทั้งสิ้น 44 แปลง งบประมาณ 2,576,800 บาท และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียงทฤษฎีใหม่ รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ขนาดพื้นที่ไร่ 1 จำนวน 82 แปลง ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 17 แปลง รวมทั้งสิ้น 99 แปลง งบประมาณ 5,474,400 บาท รวมงบประมาณทั้ง 2 โครงการฯ 8,051,200 บาท ในระดับอำเภอไชโย ได้รับจัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 7 แปลง โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 13 แปลง ขนาด 3 ไร่ จำนวน 1 แปลง อีกทั้งยังมีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นตพ.) ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ จำนวน 10 คน ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

พ.อ.อ.ทรงพล ฉายแสง พัฒนาการอำเภอไชโย เปิดเผยว่า จังหวัดอ่างทอง โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอไชโย ได้รับจัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช” (งบเงินกู้) ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 7 แปลง ปัจจุบันได้ขับเคลื่อนโครงการฯ จนสามารถดำเนินการขุดปรับปรุงพื้นที่ให้สำเร็จได้หมดทั้ง 7 แปลง ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่ร่วมขับเคลื่อนงานให้เกิดความสำเร็จในวันนี้ได้ และจะได้ดำเนินโครงการฯ ในขั้นตอนต่อไปอย่างเต็มกำลัง โดยมุ่งหวังให้เกิดผลสำเร็จที่จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ซึ่งเป็นหลักประกันในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง แก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกระดับขีดความสามารถของชุมชนให้พึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน

นางอุดม หล่อโลก หรือ “ยายอุดม” เจ้าของแปลง ได้แสดงความรู้สึกขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอไชโยที่เข้ามาขับเคลื่อน ช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตนดีใจเป็นอย่างมากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อก่อนเนื้อที่ตรงนี้เป็นที่ลุ่มและน้ำท่วมขัง ใช้ประโยชน์ได้น้อย แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา พช.ขุดเสร็จแล้วสวยงาม ตนรู้สึกดีใจมากที่ต่อไปจะสามารถบริหารจัดการที่ดินทำกินของตนได้ โดยจะปลูกพืชผักให้หลากหลาย ทั้งการปลูกป่า 5 ระดับ แนวทางปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง รวมทั้งเลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามที่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรกสิกรรมธรรมชาติ และจะพัฒนาพื้นที่ของตนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ให้คนในชุมชนต่อไป
ภูมิใจไชโย

ภาพ/ข่าว กรมการพัฒนาชุมชน