วันที่ 3 ก.ค. 64 ที่ ห้างแจ่มฟ้าช้อปปิ้งมอลล์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี “แม่ญิง หละปูน ร่วมใจต้านภัยโควิด” โดยมี นางบำเพ็ญ เมืองมูล พัฒนาการจังหวัดลำพูน กล่าวรายงาน มี นางปนัดดา เนาวรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำพูน นางเพ็ญศรี กันทะวัง ประธานคณะทำงานขับเคลื่อน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และนางทัศนีย์ ไชยเรืองศรี ประธานเครือข่าย Otop ลำพูน ร่วมพิธี และร่วมต่อจิ๊กซอว์ เปิดงานฯ
นางบำเพ็ญ เมืองมูล พัฒนาการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นกองทุนสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมบทบาทการพัฒนาศักยภาพสตรี และสนับสนุนการจัดกิจกรรมของสดรี ในการดำเนินโครงการ ฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นการสนับสนุนให้สตรีมีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพของสตรี เพื่อประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และส่งเสริมช่องทางการตลาดของกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จากพื้นที่ 8 อำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนระดับอำเภอและระดับจังหวัด จำนวน 120 คน ดำเนินโครงการฯ จำนวน 2 วัน ระหว่างวันที่ 3 – 4 กรกฎาคม 2564 ณ ศูนย์การค้าแจ่มฟ้าชอปปิ้งมอลล์ ลำพูน
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย
1. เวทีเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาสตรีและการส่งเสริมอาชีพ
2. สาธิตการประกอบอาหารจากมะม่วง
3. สาธิตอาชีพของกลุ่มสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
4. นิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี”ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”
5. จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 40 ราย
6. กิจกรรมประกวดการประกอบอาหารจากมะม่วง การดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ เป็นงบประมาณการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดลำพูน ศูนย์การค้าแจ่มฟ้าชอปปิ้งมอลล์ ลำพูน อนุเคราะห์ให้ใช้สถานที่ในการดำเนินโครงการฯ
ด้าน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นแหล่งทุนในการพัฒนาสตรี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง สตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นกองทุนที่สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับสตรี ซึ่งสตรีในปัจจุบันถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาตั้งแต่ในระดับครัวเรือน ส่งผลให้คนในครัวเรือนมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย การส่งเสริมช่องทางการตลาดของกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จะช่วยให้สตรีมีพื้นที่ในการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดลำพูน ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน
โอกาสนี้ ขอแสดงความชื่นชมต่อสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและผู้ผลิตผู้ประกอบ OTOP ทั้ง 8 อำเภอ ที่เข้าร่วมโครงการฯ เนื่องจากหลายกิจกรรมของโครงการฯ ในครั้งนี้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและการประสานความร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆเพื่อให้โครงการฯ บรรลุผลสำเร็จไปได้ด้วยดี.
ภาพ/ข่าว กรมการพัฒนาชุมชน