สำนักงานสหกรณ์ ลำปาง มั่นใจให้ศพช.ลำปาง จัดกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาทักษะวิชาชีพแก้จน ให้กับลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่อการเกษตร เพื่อส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการเกษตร ดึงลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร จังหวัดลำปาง
วันที่ 28 มิถุนายน 2564 นางอภิญญา โกมลรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง มอบหมายให้นางอัญชลี ป่งแก้ว หัวหน้างานพัฒนาทรัพยากรบุคคล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ให้การต้อนรับ และจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการเกษตร นำไปสู่การพัฒนาเสริมสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตรกร ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำปาง โดยมีนางฐานิดา ชมภูศรี ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร และเจ้าหน้าที่โครงการ รวม 20 คน ณ ห้องประชุมลีลาวดี และพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง
การจัดกระบวนการเสริมสร้างการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ได้มีการดำเนินกิจกรรม ดังนี้
1. กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์
2. เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืน
3. การเรียนรู้ตำราบนดิน กิจกรรมเดินชมพื้นที่ตามฐานเรียนรู้ “โคก หนอง นา พช.” 10 ฐานเรียนรู้
4. การฝึกปฏิบัติฐานเรียนรู้ “โคก หนอง นา พช.” 8 ฐานเรียนรู้ ได้แก่ ฐานฅนรักษ์แม่โพสพ ฐานฅนมีน้ำยา ฐานฅนรักษ์ป่า ฐานฅนรักษ์แม่ธรณี ฐานน้ำหมักรักษ์โลก ฐานฅนรักษ์น้ำ ฐานฅนติดดิน และฐานฅนรักษ์สุขภาพ
5. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและสรุปบทเรียน
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดังกล่าว เป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการเกษตร พัฒนาทักษะวิชาชีพ จากการบูรณาการเรียนรู้ “หลักสูตรระยะสั้น 108 อาชีพแก้จน พัฒนาคนทุกช่วงวัย” โดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง เป็นศูนย์เรียนรู้การฝึกอาชีพระยะสั้นแก่ประชาชนทั่วไป ส่งเสริมการสร้างรายได้ เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำความรู้และเทคนิคในฐานเรียนรู้ต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และขยายผลสานต่อการประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิต ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีอาชีพที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ภาพ/ข่าว: กรมการพัฒนาชุมชน