“นายอำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ขยายผลกิจกรรม ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่เป้าหมาย “แก้ได้ หายจน ชีวิตมั่นคง ครอบครัวมั่งคั่ง ชุมชนยั่งยืน”

วันที่ 23 มิถุนายน 2564 นายภิญโญ พัวศรีพันธุ์ นายอำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ลงพื้นที่บูรณาการขับเคลื่อนกิจกรรมปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้กับประชาชน ในพื้นที่บ้านป่ากระทุ่ม หมู่ที่ 1 ตำบลหนองบัว อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย โดยมีนายสุกล สักคู ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลหนองบัว นางกุหลาบ อ่ำดี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และประชาชนในพื้นที่ ร่วมกิจกรรมฯ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดและขยายผลกิจกรรมการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนกิจกรรมฯ ด้วยการลงมือปลูกผักสวนครัว และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างในชุมชนสร้างคลังอาหาร เป็นต้นแบบให้กับชุมชน และประชาชนในพื้นที่อำเภอศรีนคร โดยมีเมล็ดพันธุ์ผักที่ปลูกได้แก่ พริกขี้หนู โหระพา กะเพรา สะระแหน่ คะน้า กวางตุ้ง แคแคระ กะหล่ำปลี ผักบุ้ง มะละกอ ตะไคร้ เป็นต้น

นายอำเภอศรีนคร กล่าวว่า จะเดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวฯ อย่างต่อเนื่อง และร่วมกันรณรงค์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอศรีนคร ได้ตระหนักในเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีผักสวนครัวที่ปลอดภัยและมีคุณภาพดีปลูกไว้รับประทานเองภายในครัวเรือน และจะขยายผลดำเนินกิจกรรมตลอดทั้งปี 2564 ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอศรีนครทุกครัวเรือน หันมาปลูกผักสวนครัว และพึ่งพาตนเอง โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการปฎิบัติ เพื่อให้รอดพ้นวิกฤตปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันจากผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ สร้างพลังความต่อเนื่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ยั่งยืน ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ เป้าหมายดำเนินการในทุกหมู่บ้าน ทุกครัวเรือน
โดยมีสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุโขทัยเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งมีนายธวัช ใสสม พัฒนาการจังหวัดสุโขทัย มอบหมายนายสมพงษ์ หมื่นเข็ม พัฒนาการอำเภอศรีนคร ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวฯ เพื่อให้เกิด ”ธนาคารพอเพียง” ในทุกตำบล ทุกหมู่บ้านเป็นศูนย์กลาง ของการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน แบ่งปัน พันธุ์ผัก กล้าพันธุ์ไม้ เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการพึ่งตนเอง และนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหาร อย่างยั่งยืนต่อไป