วันที่ 22 มิถุนายน 2564 ภายใต้การอำนวยการของ นายสุภาพ สุขแก้ว พัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี มอบหมายให้ นายเมธาพัฒน์ วงศ์ปา พัฒนาการอำเภอด่านช้าง พร้อมด้วย นายศุภวัฒน์ เกตุชู พัฒนากรประจำตำบล และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ลงพื้นที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยให้จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งสิ้น 235 แห่ง โดยเเบ่งเป็นพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) งบปกติปี 2564 : 147 แห่ง งบเงินกู้ (ระยะที่ 1) : 88 แห่งเเละโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 147 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 125 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 22 แห่ง ในส่วนของอำเภอด่านช้าง นั้น มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการฯ ทั้งสิ้น 12 แปลง แยกเป็นโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจ งบกรมการพัฒนาชุมชน พื้นที่ 3 ไร่ 1 แปลง / งบเงินกู้รัฐบาล แปลง HLM พื้นที่ 1 ไร่ 3 แปลง และพื้นที่ 3 ไร่ 8 แปลง มีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จำนวน 12 คน
โดยการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ในครั้งนี้ ภาคีการพัฒนา ได้แก่ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ร่วมการปรับแต่งพื้นที่ ณ แปลงครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) นายศรนรินทร์ บาลนคร บ้านวังกกจาน หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่ 3 ไร่ ดินร่วนปนทรายแบบ 1:2 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียง
นายศรนรินทร์ บาลนคร เจ้าของแปลงฯ เผยว่า “ตนมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งในการเป็นส่วนหนึ่งที่มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการฯ และจะมุ่งดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ ที่ว่า “พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ก็ทำให้มีความสุขถ้าทำได้ ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจหรือระบบพอเพียง” ขอขอบคุณรัฐบาล กรมการพัฒนาชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับอำเภอ โดยเฉพาะพัฒนากรประจำตำบล นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ปลูกป่า และผักสวนครัว ซึ่งทันช่วงฤดูฝนในการทำการเกษตรพอดี ซึ่งตนจะพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เกิดประโยชน์และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นแปลงตัวอย่างและแหล่งเรียนรู้ต้นแบบแก่คนในพื้นที่ให้สามารถพึ่งตนเองได้ต่อไป” เจ้าของแปลง กล่าวปิดท้ายด้วยความปลื้มใจ
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ที่จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เมื่อเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ ถือว่ามีความเสี่ยงที่น้อย แต่กลับได้ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าและทั่วถึงตามหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นหลักประกันในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ซึ่งรัฐบาลก็ยังให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าว จากการได้รับอนุมัติงบประมาณกว่า 4,700 ล้านบาท ภายใต้งบเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกระดับขีดความสามารถของชุมชนให้พึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน
📱ภาพ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอด่านช้าง
/ข่าว กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี
💕วิถีเมืองเหน่อ..สุพรรณบุรี บำรุงสุข💕 ☀Change for Good