พัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช เดินหน้าต่อเนื่องติดตามดำเนินงาน “โคก หนอง นา โมเดล”

วันที่ 15 มิถุนายน 2564 เวลา 15.00 น. นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” ครัวเรือนของนายอนนท์ เหมะรักษ์ เจ้าของแปลง พื้นที่ขนาด 3 ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” โดยมี นางสาวจริยา คงตุก พัฒนาการอำเภอชะอวด พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอชะอวด ให้การตอนรับและนำลงพื้นที่ฯ ณ บ้านวังเคียน หมู่ที่ 2 ตำบลเขาพระทอง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” จำนวน 8,870,000 บาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน 139 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ขนาด 1 ไร่ จำนวน 95 แปลง และพื้นที่ขนาด 3 ไร่ จำนวน 44 แปลง นอกจากนี้ ในส่วนของอำเภอชะอวด มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 1 แปลง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 2 แปลง รวมทั้งหมด 3 แปลง เป็นเงินงบประมาณ จำนวน 253,200 บาท

การลงพื้นที่ติดตาม โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” พบว่า อำเภอชะอวดมีการดำเนินการในกิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” เรียบร้อยแล้ว คิดเป็นร้อยละ 100 ซึ่งได้วางแผนในการขอรับการสนับสนุนพันธุ์ไม้เศรษฐกิจจากศูนย์เพาะชำกล้าไม้พัทลุง โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 3 ชนิด/แปลง โดยกำหนดจัดกิจกรรมเอามื้อภายในเดือนมิถุนายนนี้ ผลการตอบรับจากเจ้าของแปลง พบว่า ทุกครัวเรือนมีความพึงพอใจ อีกทั้งเกิดแรงบันดาลใจในการเป็นต้นแบบให้ครัวเรือนใกล้เคียงได้นำไปขยายผล

นายอนนท์ เหมะรักษ์ เจ้าของแปลง กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ได้ให้โอกาส และให้ความรู้จากการเข้าร่วมโครงการฯ ตนเองรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเองได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันโดยการทำกิจกรรมลดรายจ่าย ปลูกผักที่รับประทานไว้รอบบ้าน หลังจากได้รับทราบว่ากรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าว ซึ่งเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ในรูปแบบ “โคก หนอง นา” นั้น จึงมีความตั้งใจว่าจะต้องเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อมีส่วนในการสืบสานสิ่งที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มอบไว้ให้พี่น้องประชาชนชาวไทยให้จงได้ นอกจากจะแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาครัวเรือนอื่น ๆ ในชุมชนเรื่องของการลดรายจ่ายแล้ว ยังมีโอกาสแบ่งปันอาหารไปยังครัวเรือนข้างเคียง มีเหลือก็สามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แม้จะตกอยู่ภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ครัวเรือนใกล้เคียงก็จะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข เนื่องด้วยความมั่นคงทางอาหารที่มีอยู่ในพื้นที่โครงการฯ ทั้งนี้ ตนเองมีความตั้งใจเป็นอย่างสูงที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบพร้อมทั้งขยายผลไปยังครัวเรือนในหมู่บ้าน ตลอดจนตำบลข้างเคียง

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในกิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เมื่อเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ ถือว่ามีความเสี่ยงที่น้อย แต่กลับได้ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าและทั่วถึงตามหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นหลักประกันในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกระดับขีดความสามารถของชุมชนให้พึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565 Change for good

สถานีข่าวพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงาน