กพร. เดินหน้า โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่ 4.0 (STEM Workforce towards SME 4.0) ทุ่มงบกว่า 47.9 ล้านบาท เน้นการทำงานด้วยกระบวนการปัญญา ลดการสูญเสียในวงจรการผลิต เพิ่มศักยภาพให้แก่ชุมชน คาด ดำเนินการแล้วเสร็จ ภายในเดือนสิงหาคม ศกนี้
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลภาพรวม SMEs ในประเทศไทย ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2560 มีมากกว่า 2,773,625 ราย มีการครอบคลุมการจ้างงานมากกว่า 10 ล้านคน มีมูลค่าที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ มากกว่า 5 ล้านล้านบาท ด้วยเหตุนี้ทำให้ กพร. ได้เล็งเห็นความสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาแรงงานในประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ก้าวไปสู่ 4.0 จึงมีโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SME 4.0 (STEM Workforce towards SME 4.0) ที่ดำเนินการมุ่งเน้นภารกิจด้านการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน
โดยใช้กลไกประชารัฐช่วยพัฒนาแรงงานให้มีทักษะฝีมือมากขึ้น ตรงกับความต้องการของสถานประกอบกิจการ และส่งเสริมสถานประกอบกิจการขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ให้เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ตามนโยบายเร่งด่วนของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ปี 2561 กพร. ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 47.9 ล้านบาท จัดตั้งโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SME 4.0 โดยมีเป้าหมายให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ SME OTOP วิสาหกิจชุมชน จำนวน 185 แห่ง และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแรงงาน จำนวน 65,000 คน ขณะนี้ดำเนินการแล้วกว่า 36,579 คน โดยแบ่งออกเป็น 5 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 ออกหน่วยเคลื่อนที่ “คลินิกผลิตภาพแรงงานสัญจร” เพื่อขยายการให้บริการประชาชนทุกจังหวัดในพื้นที่ห่างไกล และลดรายจ่ายครัวเรือนให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น “ร้านกรมพัฒน์” อาทิ บริการตรวจสภาพ ซ่อมยานพาหนะ เครื่องมือทางการเกษตร และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น กิจกรรมที่ 2 ประชุมเครือข่ายเพิ่มผลิตภาพแรงงาน 77 จังหวัด ตามแนวทางประชารัฐ กิจกรรมที่ 3 ให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่วิสาหกิจชุมชน กิจกรรมที่ 4 พัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เช่น วิเคราะห์ข้อมูล วินิจฉัยสภาพปัญหา และค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา เพื่อบูรณาการร่วมมือจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาสมรรถนะของพนักงาน และกำหนดมาตรการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กิจกรรมที่ 5 พัฒนาสมรรถนะบุคลากรของ กพร. ให้เป็นนักพัฒนาฝีมือแรงงานพันธุ์ใหม่ จำนวน 280 คน
นายสง่า วงศ์ษาพาน ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ กล่าวว่า ความคืบหน้าของผลการดำเนินงานทุกกิจกรรมเป็นที่เป็นที่น่าพอใจ ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วกว่าร้อยละ 80 โดยกิจกรรมที่ 3 ได้ให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่วิสาหกิจชุมชนแล้ว 185 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100 และกิจกรรมที่ 5 การพัฒนาสมรรถนะ “นักพัฒนาฝีมือแรงงานพันธุ์ใหม่” จำนวน 292 คน คิดเป็นร้อยละ 104 ซึ่งโครงการฯ จะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ คาดว่าจะลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตได้ร้อยละ 100 และเพิ่มผลิตภาพให้แรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 เป็นการสร้างความเชื่อมั่น ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของชุมชนในประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป