เลขาธิการ คปภ. ถกซีอีโอ ของหน่วยงานกำกับดูแลประกันภัยของฮ่องกงเจรจาทำความร่วมมือเสริมเขี้ยวเล็บเพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัยไทย
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Health Insurance Development in Thailand: Opportunities and Challenges” ในงานประชุมวิชาการ “Health Insurance Innovation Congress Asia Pacific 2018” ณ เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง โดยงานสัมมนาดังกล่าวรวบรวมผู้ประกอบธุรกิจประกันภัย ผู้ประกอบธุรกิจด้านการพัฒนาเทคโนโลยี จากหลายประเทศทั่วโลกมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และมุมมอง เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับการประกันสุขภาพ โดยดร. สุทธิพล ได้กล่าวถึงโครงสร้างประชากรของเอเซียแปซิฟิกที่จะมีสัดส่วนโครงสร้างของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวในเรื่องนี้ และเมื่อในสังคมมีผู้สูงอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เพื่อดูแลสุขภาพให้ดำเนินชีวิตได้อย่างปกติก็จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายนี้มีทั้งในส่วนของประชาชนเอง และในส่วนของรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบ
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แบ่งการดูแลด้านสุขภาพออกเป็นสามแผนหลัก ได้แก่ แผนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แผนประกันสังคม และแผนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการให้การดูแลด้านสุขภาพของบุคคลสามกลุ่มที่รัฐบาลมีส่วนสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีหลักประกันทางด้านสุขภาพ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี(ด้านสาธารณสุข) เพื่อมารองรับอนาคตที่มีความเป็นสังคมเมือง สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และสอดคล้องกับบริบทความเจ็บป่วยจากโรคที่ป้องกันได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่จะเพิ่มขึ้น โดยรัฐจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มความคุ้มครองด้านสุขภาพให้กับประชาชนมากขึ้น โดยขั้นแรกจะเริ่มจากนายจ้างให้สวัสดิการด้านสุขภาพเพิ่มเติมกับลูกจ้าง และขั้นที่สองให้บริษัทประกันภัยเป็นผู้เสนอความคุ้มครองด้านสุขภาพให้กับประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดรายการในชุดสิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพเอกชน สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดให้มี โครงการปรับปรุงแบบและข้อความมาตรฐานสำหรับสัญญาประกันภัยสุขภาพ เพื่อให้มีสัญญาประกันภัยสุขภาพฉบับมาตรฐานที่สามารถรองรับกับแผนปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้ โดยปรับให้มีความสอดคล้องกับเทคโนโลยี และวิธีการรักษาทางการแพทย์ในปัจจุบัน และสภาวการณ์อื่นๆที่เป็นปัจจุบัน
ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความสนใจต่อพัฒนาการในด้านประกันสุขภาพของไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพัฒนาการในด้านการประกันภัยที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น รวมถึงเป็นโอกาสของธุรกิจของบริษัทประกันภัยและบริษัทเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพที่จะประสานความร่วมมือต่อยอดไปสู่การมีผลิตภัณฑ์และบริการด้าน HealthTech และนำไปสู่โอกาสของประกันสุขภาพข้ามพรมแดนของประเทศต่างๆในเอเชียแปซิฟิกต่อไป
ต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ ได้นำคณะผู้บริหารของ สำนักงาน คปภ. เข้าพบกับ Mr. Clement Cheung, Chief Executive Officer ของ Insurance Authority (IA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อหารือในประเด็นต่างๆ รวมถึงการเตรียมการในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ร่วมกันระหว่าง สำนักงาน คปภ. และ IA เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่มีการประกอบธุรกิจในทั้งประเทศไทยและเขตบริหารพิเศษฮ่องกงในรูปของกลุ่มธุรกิจ รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ซึ่งริเริ่มมาจากทางสำนักงานคปภ.โดยได้เจรจากับทาง IA จนเป็นผลสำเร็จ และคาดว่าจะสามารถลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้ภายในเดือนธันวาคมปีนี้
นอกจากนี้ ดร. สุทธิพล ยังได้หารือกับ Mr. Clement ให้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของฮ่องกงเพื่อทาง คปภ.จะได้นำมาเป็นข้อมูลในการเตรียมความพร้อมในการเข้ารับการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program: FSAP) โดยเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้เคยมีประสบการณ์เข้ารับการประเมินดังกล่าว ซึ่ง Mr. Clement ได้ให้ข้อมูลว่า ในการประเมิน คณะผู้ประเมินจะพิจารณาจากสภาพธุรกิจของประเทศที่เข้ารับการประเมินและจะมุ่งเน้นในจุดที่มองว่ายังมีประเด็นที่ต้องปรับปรุงหรือพัฒนาการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐานสากลด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และ Mr. Clement ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการให้ข้อมูลแก่คณะผู้ประเมินในเรื่องของการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศว่า นอกเหนือจาก MOU แล้ว ควรมีการกล่าวถึง การประชุมนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัยด้วย เช่น การประชุม Asian Forum of Insurance Regulator: AFIR ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย และมีผู้สังเกตการจากหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยใหม่ๆ เป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้ Mr. Clement ได้เสนอมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจประกันภัยในด้าน InsurTech ว่า น่าจะมีแนวทางในการพิจารณาออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันภัยสำหรับธุรกิจประเภท Start up ที่จะทำผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านการประกันภัยของตัวเอง และควรทำให้อยู่ในรูปแบบ Fast Track เพื่อให้สอดรับกับรูปแบบการประกอบธุรกิจที่มีความฉับไว โดยได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันเขตบริหารพิเศษฮ่องกงอยู่ระหว่างการพิจารณาออกใบอนุญาตใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะใช้วิธีการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น โดยจะไม่มีการใช้บริการตัวแทนและนายหน้าประกันภัย ซึ่งมีผู้ที่สนใจขอรับใบอนุญาต โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและสัมภาษณ์ผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีแผนในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จะมุ่งเน้นไปยังตลาดกลุ่มวัยรุ่น และผู้ที่มีอายุยังน้อยผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต
รวมทั้ง Mr. Clement ได้ให้ความเห็นสนับสนุนแนวทางของไทยในการผลักดันให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาตรฐานอาเซียน ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนที่จะมีการประชุมในปี 2562 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพโดยให้ข้อมูลว่าเขตบริหารพิเศษฮ่องกงก็มีแนวทางพัฒนาที่คล้ายๆ กัน ภายใต้ชื่อ Insurance Connect ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อการบริการด้านการประกันภัยของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงกับเมืองชายฝั่งทะเลของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะมีการเปิด Service Center ของบริษัทประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในเมืองชายฝั่งทะเลของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้บริการเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งในการพิจารณารับประกันภัยและการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทประกันภัยเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางมาเพื่อติดต่อประสานงานไปมาระหว่างเขตบริหารพิเศษฮ่องกงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่คนของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงที่เข้าไปลงทุนหรือทำงานในเมืองชายฝั่งทะเลดังกล่าว อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้มีการบริการด้านการประกันภัยดังกล่าวรวมถึงการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย เนื่องจากยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับมาตรการในการกำกับดูแลด้านการเสนอขาย ว่าจะมีการควบคุมการเสนอขายไม่ให้มีการ mis-selling และจะมีมาตรการลงโทษหากมีการฝ่าฝืนอย่างไร ซึ่งหากแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยอาเซียนตามที่ไทยจะผลักดันในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ micro-insurance ประกันภัยอุบัติเหตุแบบง่ายๆโดยใช้ช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ ก็น่าจะมีความเป็นไปได้และมีโอกาสจะประสบความสำเร็จ
จากการหารือกับ IA ดังกล่าว สำนักงาน คปภ. สามารถนำประสบการณ์ของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเกี่ยวกับการเข้ารับการประเมินภาคการเงิน มาปรับใช้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินภาคการเงินของประเทศไทยที่คณะผู้ประเมินจะเดินทางเข้ามาประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในต้นปี 2562 นอกจากนี้ รูปแบบการพัฒนาการให้บริการด้านประกันภัย Insurance Connect ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงกำลังดำเนินการอยู่ก็สามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการพัฒนา ASEAN Micro Insurance Product ได้เช่นเดียวกัน โดยการลงนามใน MOU กับ IA ก็จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ปัญหาข้อขัดข้องในเรื่องต่างๆ อันจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยของประเทศไทยให้ยั่งยืน ต่อไป