โคก หนอง นา พช. ฉลุย เดินหน้ากว่า 42% ขับเคลื่อนพื้นที่ต้นแบบ พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

วันที่ 10 มิถุนายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” วงเงิน จำนวน 4,787,916,400 บาท (สี่พันเจ็ดร้อยแปดสิบเจ็ดล้านเก้าแสนหนึ่งหมื่นหกพันสี่ร้อยบาทถ้วน) ในพื้นที่เป้าหมาย 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการพัฒนาคนให้พึ่งตนเอง มีความเป็นเจ้าของและบริหารจัดกาจัดการโดยชุมชน พัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชน ให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสังคม “อยู่เย็น เป็นสุข” ประยุกต์สู่การปฏิบัติรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล อันเป็นการส่งเสริม ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยดำเนินการ 7 กิจกรรมผลการดำเนินงาน ณ ปัจจุบันได้เบิกจ่ายไปแล้ว จำนวน 2,020.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.20โดยจำแนกเป็นรายกิจกรรม ดังนี้ (ข้อมูลผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564)

กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล วงเงิน 240.6322 ล้านบาท เป้าหมาย 357 รุ่น จำนวน 35,015 คน คงเหลือ 30 รุ่น จำนวน 4,512 คน เบิกจ่ายแล้ว 210.4766 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 85.90เนื่องจากติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงต้องเลื่อนการฝึกอบรมออกไป โดยจะมีการอบรมในจังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี สุรินทร์ และกระบี่ จำนวน 1,731 คน ทั้งนี้มีกำหนดอบรมให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2564

กิจกรรมที่ 2 สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (CLM) และพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (HLM) วงเงิน 2,359.3270 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,288.2923 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.60

กิจกรรมที่ 3 สร้างงาน สร้างรายได้รายเดือนให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน วงเงิน 992.3040 ล้านบาท เป้าหมาย 9,188 คน โดยได้จ้างงานแล้ว 9,168 คน ในอัตราเดือนละ 9,000 บาท เบิกจ่ายแล้ว 496.840ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.26

กิจกรรมที่ 4 กระตุ้นการบริโภครายครัวเรือนและเอกชน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือน (HLM) วงเงิน 496.8400 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 28.563ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.75 สำหรับกิจกรรมนี้ ได้มีผู้ร่วมเอามื้อสามัคคีแล้ว จำนวน 1,113 แปลง จำนวน 22,260 คน

กิจกรรมที่ 5 บูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล วงเงิน 577.8930 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 8.870ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.53ในส่วนของกิจกรรมที่ จะดำเนินการหลังจากที่ได้ดำเนินการขุดปรับรูปแบบแปลงแล้ว

กิจกรรมที่ 6 พัฒนาการสร้างมาตรฐานผลผลิต การแปรรูปและการตลาดตามมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย วงเงิน 4.8898 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1.2209 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.97

กิจกรรมที่ 7 พัฒนาระบบ Digital รองรับ Local Economy ด้วยการสร้างระบบโปรแกรม และฐานข้อมูล วงเงิน 116.0304 บ้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 58.7404 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.63 สำหรับกิจกรรมนี้ มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA. เบิกจ่ายแทนกัน ซึ่งจะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าการดำเนินการตามโครงการมีผลดี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่พี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการทั้งก่อนและหลังดำเนินการ สามารถใช้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณได้ด้วยภาพถ่ายดาวเทียม นอกเหนือจากจะมีหน่วยงานอิสระ เช่น ป.ป.ช.

สตง. คณะอนุกรรมาธิการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณขอสภาพัฒน์ฯ และที่สำคัญคือพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการที่จะคอยติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเป็นการดำเนินในพื้นที่ดินของตนเอง จึงเป็นหลักประกันได้ว่าจะมีการดำเนินการด้วยความโปร่งใส ที่สำคัญงบประมาณในการดำเนินการนั้นกรมการพัฒนาชุมชนได้มอบอำนาจให้จังหวัด อำเภอ เป็นผู้ดำเนินการในพื้นที่เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ทุกจังหวัด ทุกอำเภอแทนการจัดซื้อจัดจ้างจากส่วนกลางการดำเนินการตามโครงการการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา แม้จะยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จแต่ก็ปรากฏผลดีเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการอย่างยิ่ง และพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ โคก หนอง นา ให้กับผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้และประยุกต์ใช้ในวงกว้างต่อไป และขอยืนยันว่าผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง25,179 ครัวเรือน เป็นพี่น้องประชาชนทั้งหมดไม่มีโครงการในค่ายทหาร หรือหน่วยราชการแต่อย่างใด

ส่วน พระครูสุขุมวรรโณภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ พระนักพัฒนาที่ขับเคลื่อนชุมชนตามหลัก “บวร” กล่าวว่า ประโยชน์ของโคกหนองนา ในด้านทางกายภาพ เป็นการส่งผลให้ระบบนิเวศดีขึ้น การขุดหนอง คลอง โคก จะทำให้มีแหล่งที่จะเก็บน้ำฝนให้ได้ปริมาณมากขึ้น ที่ได้หลายล้านลูกบาศก์ ในอีกส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ สัตว์ทั้งหลายที่ธรรมชาติก็จะเกิดขึ้นอีกมากมาย ชาวบ้านก็จะได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น มีความมั่นคงของชีวิต มีความมั่นคงทางอาหาร พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น นอกจากนี้ชาวบ้านที่ทำโคกหนองนาเป็นผู้มีบุญ มีทาน มีการเก็บแปรูปถนอมอาหาร มีการขายเพิ่มเพิ่มรายได้ มีเครือข่ายเรื่องการตลาด มีเครือข่ายคุณธรรม นอกเหนือจากนี้ชาวบ้านเกิดคุณธรรม เกิดบุญเกิดทานอยู่ในแปลงโคกหนองนา ความอดทน ความเพียรก็ถือว่าเป็นคุณธรรม ความสามัคคีก็เกิดขึ้นในแปลงจากการเอามื้อสามัคคี ผลผลิตที่เกิดขึ้นถ้าเอาไปทำบุญก็ได้บุญ เอาไปทำทานก็ได้ทาน เอาไปแจกผู้ประสบภัยพิบัติก็เป็นความมีน้ำใจ เอาไปให้พ่อแม่ก็เป็นความกตัญญู เราจะได้เห็นว่าโคกหนองนาไม่เฉพาะเพียงที่จะให้เกิดระบบนิเวศที่ดี แต่ยังทำให้ชาวบ้านเกิดในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม มีความดีงามเกิดขึ้นในครอบครัวและชุมชนด้วยอันนี้เป็นเรื่องดีของโคกหนองนา

อันนี้มันเป็นรูปธรรมชัดเจน เนื่องจากงบประมาณในภาครัฐยากที่จะลงมาสู่ชาวบ้าน ชุมชน อย่างเป็นกรอบเป็นกำ แต่ว่าโครงการนี้ทำให้ชาวบ้านได้รับการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งเครื่องจักรต่างๆเข้ามาทำงานในแปลงของตนเอง เขาเรียกว่ามันเป็นการใช้งบประมาณให้ลงถึงรากหญ้า ชาวบ้าน นอกจากที่จะเอางบนี้ไปขุดแปลงให้แล้ว ยังมีการส่งเสริมปัจจัยการผลิตให้กับเจ้าของแปลงแต่ละแปลงอีกด้วย อันนี้ก็เป็นประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้ ในส่วนต่อมาหลังจากผลผลิตที่เกิดขึ้นแล้วทางโครงการ กรมการพัฒนาชุมชนได้ประสานภาคีเครือข่ายการทำผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ในส่วนของการตลาด แพกเกจจิ้ง ก็จะให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น มีบุญ มีทาน มีเก็บ มีขาย มีเครือข่าย

โดยบทบาทของพระสงฆ์หรือบทบาทของการขับเคลื่อนศูนย์ฝึกอบรมต้นแบบ ได้มีโอกาส เกื้อกูล ส่งเสริม สนับสนุน โครงการ โคก หนอง นา อุบลราชธานี คือ เป็นศูนย์ฝึกอบรมต้นแบบ และสร้างวิทยากรอาสา ครูพาทำ ครูประจำวิชา รวมถึงเป็นการช่วยฝึกอบรมศูนย์ต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ วัดป่าศรีมงคล วัดศรีนวลสว่างอารมณ์ และบ้านหนองหมู ศูนย์สารภีท่าช้าง ให้การอบรมแก่บุคคลที่เข้าร่วมการอบรมให้มากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเรายังได้รับการแต่งตั้งจากกรมการพัฒนาชุมชน ให้เป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจน และขับเคลื่อนงานสานฝ่ายขยายผล 25 อำเภอ 25 แปลงต้นแบบ ของจังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นศูนย์เครือข่ายกรมการพัฒนาชุมชน และได้รับให้การสนับสนุนงบประมาณ บุคลากรมาพัฒนาศูนย์ให้มีความพร้อม สมบูรณ์มากขึ้น นี่คือ การร่วมมือด้วยหลัก บวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน

นางสาว อุลัยลักณ์ มะโนดี เป็นนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบของอำเภอแวงใหญ่ กล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้มีส่วนกับโครงการนี้จากที่เราไม่มีความรู้เกี่ยวกับโคก หนอง นา พอเราได้มาสัมผัสและลงมือทำเริ่มตั้งแต่การออกแบบการวาดแบบแปลนและติดตามการงานจนงานออกมาแล้วประสบผลสำเร็จครัวเรือนพึงพอใจในงานที่ออกมา และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับครัวเรือนต่อไปเราก็รู้สึกดีใจและมีความสุขแล้วค่ะ”

อธิบดี พช.กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อดำเนินการโครงการเสร็จสิ้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน กล่าวคือ ช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือนที่ผ่านการพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบ ซึ่งในปีแรกจะเป็นเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือน/ชุมชน โดยเฉพาะเรื่องการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายเท่ากับเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน สามารถเป็นแหล่งอาหารหลักเลี้ยงดูคนในชุมชน ระยะต่อมาเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าปลูกใหม่ตามแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง

ซึ่งผลผลิตจะสามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำฝนในพื้นที่ดำเนินงานโครงการฯ รวมถึงโครงการนี้ยังช่วยเพิ่มการจ้างงานด้วยการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยการเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตำบล และระดับครัวเรือน จำนวน 9,188 คน จ้างงานคนละ 9,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 12 เดือน กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการโครงการฯ โดยคำนึงความถูกต้อง โปร่งใส สุจริต ยึดถือระเบียบข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน รวมถึงเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อันเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป