ภารกิจสำคัญของระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทยไม่ใช่การรักษาเมื่อเจ็บป่วยแล้วเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ก่อนที่จะเจ็บป่วยแล้วเข้าสู่กระบวนการรักษาโรคและฟื้นฟูสุขภาพ ขณะเดียวกันต้องดูแลสุขภาพเป็นแบบองค์รวม คือ การดูแลรักษา “คน” ไม่ใช่ดูแล“โรค” มองผู้ป่วยทุกมิติและทุกด้านที่มีผลกระทบต่อการเจ็บป่วยทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ครอบครัว และชุมชน เพื่อให้เกิดการดูแลที่มีคุณค่า ซึ่งการจัดรูปแบบบริการที่เป็นองค์รวมทุกมิติของสุขภาพนี้ จะสามารถสร้างความรู้ ความเข้าใจในการดูแลตนเอง (Self care) ของคนทุกกลุ่ม คนทุกวัย จนเกิดเป็นการสร้างสุขภาพจากภายในตัวเอง ภายในครอบครัว ไปสู่การร่วมกันสร้างสุขภาพให้กับชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนต่อไป และนี่คือภารกิจของ “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว”
นายแพทย์สิริชัย นามทรรศนีย์ แพทย์เวชศาสตร์ ครอบครัวและรองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ผลงานเด่นที่เคยได้รับ คือ รางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นของชมรมแพทย์ชนบท ปี 2555 รางวัลแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดีเด่นสาขาครูแพทย์ ปี 2558 “ ผมเองเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวรุ่นแรก ๆคือ ตอนที่จบมาแ ทบจะยังไม่มีแพทย์เ วชศาสตร์ครอบครัวปฏิบัติงานจริง ๆ ในชุมชน ก็เลยเป็นคนที่มาบุกเบิกงานด้านนี้ และด้วยความที่เป็นแพทย์รุ่นแรกก็ได้สอนนักศึกษาหลาย ๆ รูปแบบไม่ว่าจะเปนนักศึกษาแพทย์ แพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว โดยจะสอนนอกสถานที่ เช่น โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบล เป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์พร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนางานด้านนี้ไปในตัว”
“แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นแพทย์สาขาใหม่ของประเทศไทย แต่ในต่างประเทศมีมานานแล้ว ในประเทศไทยเพิ่งมีมาไม่กี่ปีนี้ บทบาทเด่น ๆ ของแพทย์เวชศาสตร์ครบครัว คือเป็นแพทย์ที่ทำงานในระบบบริการปฐมภูมิ คือคนที่ประสานทั้งในและนอกโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน จะดูแลสุขภาพประชาชนทั้ง 4 มิติ คือ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรค และฟื้นฟูสุขภาพ ขณะเดียวกัน ยังเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชนไปด้วยกัน ไม่ได้เน้นการดูแลเฉพาะโรคเท่านั้น แต่ยังดูแลเรื่องของความเจ็บป่วยจิตใจ คุณภาพชีวิตของคนไข้และครอบครัว แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจึงเป็นหมอที่ทำงานในหลายมิติเหมือนเราเป็นหมอประจำตัว เป็นหมอประจำครอบครัว ดูแลทุกเรื่อง ซึ่งในต่างประเทศ ถ้าคุณจะไปหาหมอไหน เค้ามักจะมาปรึกษาหมอครอบครัวก่อน เช่น ผมมีปัญหาเรื่อง เข่า ข้อ ปวดเข่า เขาก็จะแนะนำให้ไปหาคุณหมอคนนี้ ดีไหม…แล้วต้องทำอย่างไรต่อ…ก็จะเหมือนปรึกษากันในครอบครัว”
“การให้ข้อมูลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง…จะให้ความรู้เฉพาะโรคนั้น ๆ ข้อมูลที่ได้จะไม่ครบทุกด้าน แต่พอเ ป็นหมอครอบครัวจะรู้จักคนไข้ตั้งแต่เกิด-เป็นอยู่อย่างไร-ป่วยอย่างไร-คนไข้ให้คุณค่ากับเรื่องไหน-ครอบครัวเป็นอย่างไร-มีใครดูแล…คำแนะนำจึงเป็นคำแนะนำที่เหมาะสมกับครอบครัวของคนไข้เฉพาะรายนั้น ๆ”
นายแพทย์สิริชัย กล่าวถึงมุมมองในเรื่องแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวว่า เดิมโรงพยาบาลในประเทศไทยจะเน้นพัฒนาในโรงพยาบาลเป็นหลัก เมื่อโรงพยาบาลมีความทันสมัย เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์มีความก้าวหน้าสูง พอพัฒนามาก ๆ เข้าก็เกิดคอขวดอย่างหนึ่ง อย่างที่เห็นคือ คนไข้มากจนล้นโรงพยาบาลทำให้ต้องย้อนกลับมาคิดใหม่ว่า ถ้าคนไข้มาโรงพยาบาลกันมาก ยังไงโรงพยาบาลก็ไม่พอให้บริการ จึงเน้นไปที่การส่งเสริมให้ชุมชนหรือในครอบครัวของคนไข้ ดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล ดังนั้นหมอเวชศาสตร์ครอบครัว จึงเป็นจุดที่เข้ามาเติมเต็มในจุดนี้“แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เน้นการทำงานทั้งในโรงพยาบาล ในชุมชน และในบ้านคนไข้ เน้นการส่งเสริมป้องกันให้สามารถดูแลตนเองได้ทั้งในระดับตัวบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยดูแลอย่างดูแลต่อเนื่องระยะยาว เชื่อมโยงการทำงานระหว่างโรงพยาบาลกับสหสาขาวิชาชีพทั้งในและนอกโรงพยาบาลซึ่งแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวทำงานคนเดียวไม่ได้ เนื่องจากภาระงานเยอะมาก เราจะต้องทำงาน ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งที่ต่างวิชาชีพ ต่างโรงพยาบาล ในชุมชน ผู้นำท้องถิ่น อบต. โรงเรียน วัด ฯลฯ การที่เรามีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเข้ามาเป็นตัวประสานเป็นตัวเชื่อม…ก็ทำให้การทำงานในระบบบริการสาธารณสุขเราไร้รอยต่อมากขึ้น มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น”
นายแพทย์สิริชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จำเป็นต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะของคนในปัจจุบัน คือเมื่อก่อนคนส่วนใหญ่จะเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อ โรคเฉียบพลัน และโรคระบาดต่าง ๆ แต่มาในยุคนี้ เราจะเจ็บป่วยกันด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ความเสื่อมความชรา…เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งการดูแลผู้ ป่วยแบบนี้…แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะมีความชำนาญมากเพราะโรคพวกนี้จะมีสาเหตุและปัจจัยขึ้นอยู่กับกาย จิตครอบครัว และสังคม(หรือสิ่งแวดล้อม)โดยเฉพาะผู้สูงอายุไม่ใช่ว่าพบโรคแล้วจะสั่งจ่ายยาอย่างเดียว เราต้องเข้าไปดูว่าผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยที่บ้านนั้นสามารถดูแลได้ไหม…เขาอยู่กับใคร…ถ้าเขาไม่มีคนดูแล คนในชุมชนเขามาช่วยเขาได้ไหม… หรือหากเขามีโรคหลายโรคเราจะดูแลอย่างไรให้เค้าช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด…หรือ มีภาคีเครือข่ายในชุมชนใดบ้างที่จะเข้ามาช่วยเหลือ“การมีหมอเวชศาสตร์ครอบครัวเข้ามาเติมเต็มหรือแก้ปัญหาในจุดนี้ ทำให้การดูแลผู้ป่วย โรคเรื้อรัง คนชรา ผู้พิการต่าง ๆ เกิดเป็นรูปธรรมและได้ผลดียิ่งขึ้น
ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ เราไม่ได้ดูแลในเรื่องของการให้ยารักษาโรคอย่างเดียวเราลงไปทำกิจกรรมในชุมชน ทำให้ผู้สูงอายุมีเพื่อน ไม่เหงา มีผู้ดูแลไปทำกิจกรรมส่งเสริมอาชีพ เพื่อสร้างสมรรถนะ ผู้สูงอายุพอมีอะไรทำ…เขาก็ไม่ติดเตียงง่าย มีกิจกรรมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่ได้แล้วระยะสุดท้าย เดิมทีกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร หรืออาจจะเข้าไม่ถึงการบริการ ต้องเสียชีวิตที่บ้านอย่างทุกข์ทรมาน เราก็จะเข้าไปทำให้ครอบครัวและญาติได้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านจนเสียชีวิตไปอย่างสงบไม่ติดค้างความรู้สึกกัน และนอกจากนี้ เรายังดูแล ส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในเด็กที่อยู่ในชุมชนหรือในโรงเรียน รวมทั้งรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอีก ซึ่งเรื่องต่างๆเหล่านี้หมอเวชศาสตร์ครอบครัวในหลายพื้นที่มีการดำเนินการ ซึ่งทำให้เห็นบทบาทหน้าที่ของหมอเวชศาสตร์ครอบครัวในการทำหน้าที่อย่างครอบคลุมทุกด้านทั้ง ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ ทั้งตัวคนไข้ ครอบครัว และชุมชน”
หมอเวชศาสตร์ครอบครัวที่กุฉินารายณ์นี้ ได้เริ่มมาหลายปีแล้ว จะเริ่มพร้อมกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อปี 2545 ตอนนั้นเราเริ่มดำเนินการโดยจัดแพทย์ลงตำบลเลยเพื่อให้มีแพทย์ดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยตำบลนี้จะดูแลกับแพทย์คนนี้ตลอด จะเป็นแพทย์ประจำครอบครัว…ประจำตำบล…ประจำท้องถิ่น นี้ไปเลย ซึ่งจะทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง พอปี 2550 ก็เริ่มเข้มข้นขึ้น พอผมจบหมอเวชศาสตร์ครอบครัว ก็ลงมาดูแล โดยเริ่มจากการเยี่ยมบ้านของคนไข้คนพิการในชุมชน โดยใช้ทีมเดียวกัน เพราะอัตรากำลัง และเวลาเรามีไม่มากนัก ผลตอบรับดีมากครับ คนพิการเราฟื้น ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เราก็เข้าไปดูแลถึงบ้าน ไม่ได้ไปเยี่ยมเป็นครั้งคราว ไปเยี่ยม ไปดูแลไปทำกายภาพบำบัดให้ถึงที่ทำให้คนไข้ฟื้นกลับมาดีขึ้นเร็วมาก จึงมีการเรียกร้องว่าทำไมไม่ไปที่ตำบลอื่นบ้าง เราก็เริ่มขยายงานจากตำบลหนึ่ง ไปหลายตำบล เริ่มจากแค่คนพิการไปถึงเรื่องโรคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนพิการจิตเวช เบาหวานวัณโรค ไตวาย ฯลฯ ก็ดูแลไปทั้งหมด จนตอนนี้เราสามารถขยายการดูแลไปทั้งอำเภอเป็นไปตามระบบด้านปฐมภูมิ และก็มีภาคีแทบทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ พอเราทำงานร่วมกับภาคีหลายฝ่าย เราก็เลยไม่ได้มองแค่โรคทางสุขภาพอย่างเดียว ได้ขยายไปสู่เรื่องของคุณภาพชีวิต เช่นการดูแลคนพิการให้มีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ทำให้ที่เป็นภาระของครอบครัว ให้กลายมาเป็นกำลังของครอบครัว ซึ่งตอนนี้เรามีผู้พิการที่กลับมาทำอาชีพแล้วไม่ตํ่ากว่า 200-300 คน ในของอำเภอเรา แล้วก็เรื่องของการศึกษาต่าง ๆ เด็กที่พ่อแม่ทอดทิ้งต่าง ๆ เราสามารถหาโรงเรียนร่วมกับภาคีของเราร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ร่วมกับโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการเรียนได้เข้าเรียนต่อ จึงทำให้เลยจากคำว่า “สุขภาพไปสู่คุณภาพชีวิต”…ซึ่งเป็นงานที่เราทำ
ที่นี่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว อาจจะไม่ใช่สาขาแพทย์เฉพาะทางยอดนิยมที่คนรู้จักเป็นที่กว้างขวาง แต่เป็นสาขาที่ได้ประโยชน์ให้กับคนไข้ เป็นที่พึ่งของคนไข้ แล้วเป็นที่พึ่งของระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทยในระยะยาว เพราะว่าถ้าระบบบริการสาธารณสุขของเราไม่มีระบบปฐมภูมิ ในการดูแลป้องกันโรค บุคลากรรักษาที่เข้มแข็ง จะทำให้มีคนไข้เพิ่มขึ้น ๆ ทุกวัน ประเทศของเราจะไม่สามารถแบกรับภาระนี้ได้ หมอเวชศาสตร์ครอบครัวที่ดูแลโรคตั้งแต่ต้น ต่อเนื่อง เน้นแนวส่งเสริมป้องกัน ก็จะช่วยลดภาระของประเทศแล้วก็เป็นความยั่งยืนของสุขภาพของระบบในระยะยาว
การทำงานแบบหมอเวชศาสตร์ครอบครัวจะช่วยเติมเต็มระบบงานเดิมปัญหาที่เปลี่ยนไปตอนนี้คนไข้ ไม่ได้มีเฉพาะตัวโรค ปัญหาทางจิตใจ ปัญหาทางครอบครัว ปัญหาทางสังคม ซึ่งถ้าเราสามารถให้การดูแลแบบองค์รวมไปพร้อม ๆ กันได้ จะช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสังคมก็ดีขึ้น และเกิดภาพของ “สังคมไม่ทอดทิ้งกัน”ทำให้ประเทศไทยก็เข้าสู่ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกให้ได้นายแพทย์สิริชัย กล่าวในตอนท้าย