อธิบดีพช.นำคณะผู้บริหารร่วมพิธีถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

วันที่ 9 มิถุนายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมพิธีถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พร้อมนำคณะผู้บริหาร กรมการพัฒนาชุมชน น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ เชิงสะพานพระราม 8 กรุงเทพมหานคร

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อความผาสุกของประเทศชาติและประชาชนชาวไทย ในวันอานันทมหิดล ซึ่งตรงกับวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคตในปี 2498 จึงรำลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อพสกนิกรไทย และยังเป็นการสืบทอดพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ไทย

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบอร์ก ประเทศเยอรมนี เป็นพระราชโอรสพระองค์แรก ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี 1 พระองค์และสมเด็จพระอนุชา 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ ทั้งงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานด้านการศาสนาและการศึกษา เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาล หน่วยทหาร สถานที่สำคัญต่างๆ และทรงริเริ่มประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในชนบท

โดยเริ่มในจังหวัดและอำเภอใกล้ๆ กรุงเทพฯ เช่น จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ปากเกร็ด พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งและมีผลระยะยาว คือ การเสด็จเยี่ยมชาวจีนในย่านสำเพ็ง พระนคร ซึ่งถือเป็นการเสด็จเยี่ยมราษฎรครั้งแรก โดยทรงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระอนุชา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 การเสด็จเยี่ยมชาวจีนที่สำเพ็งครั้งนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง เพราะทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชาวจีนและชาวไทยที่มีมาก่อนหน้านั้นหายไป ด้านการศาสนา พระองค์ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปในพระอารามที่สำคัญ และยังตั้งพระราชหฤทัยว่าจะผนวชในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงวัดวาอารามกับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นตามสมควร

ด้านการศึกษา ในการเสด็จนิวัติพระนครในครั้งที่ 2 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของหอสมุดแห่งชาติ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทรงศึกษาขณะทรงพระเยาว์ นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอีกครั้งที่ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489

โดยในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้น ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระองค์ทรงหว่านข้าว ณ แปลงสาธิต ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้าย ก่อนเสด็จสวรรคต ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังจากเสวยราชสมบัติได้ 12 ปี แห่งการครองราชย์ พระองค์ท่านทรงสร้างสรรค์คุณประโยชน์อเนกอนันต์ต่อประเทศไทยนานัปการ อันเป็นรากฐานแห่งความเจริญวัฒนาทั้งสิ้น

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชกรณียกิจ เพื่อพสกนิกรไทย จึงขอเทิดทูน ถวายความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์สืบไป