เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรมการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาของเด็ก เยาวชน และประชาชน โดยใช้มิติทางวัฒนธรรมในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค โดยมีนางจริญญา จักรกาย ผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงวัฒนธรรม โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom จากส่วนกลางไปยังสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกแห่ง ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2564 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นแกนนำนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมจำนวน 308 คน
ปลัด วธ. กล่าวว่า การเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรม เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับคนในชาติได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมในการรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย และร่วมเฝ้าระวังกระแสวัฒนธรรมที่เบี่ยงเบนที่มากับสื่อ และโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ถือเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น วธ. จึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ และให้ความรู้กับเด็กและเยาวชน ประชาชนในการรู้เท่าทันสังคมโลก สามารถเลือกสรร กลั่นกรอง นำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นพลเมืองที่ดีในยุคดิจิทัล พร้อมทั้งร่วมเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
“ปัจจุบันสังคมออนไลน์เป็นอีกช่องทางในการติดต่อสื่อสาร มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สิ่งที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่วนหนึ่ง คือ มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ดังนั้น ทาง วธ. ได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้จากสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาศักยภาพสมองเด็กแบบองค์รวมด้วยวินัยเชิงบวก และภาคส่วนต่าง ๆ มาถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้นักเรียนทั่วประเทศมีการพัฒนาและรู้เท่าทันสื่ออย่างปลอดภัย โดยการขับเคลื่อนเครือข่ายศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม วธ.เน้นบูรณาการจากกลุ่ม หรือองค์กรร่วมกันเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ในฐานะเจ้าของวัฒนธรรม ร่วมกันคิด ร่วมระดมสมอง ร่วมรับผิดชอบ บริหารจัดการและแก้ปัญหาให้ตรงจุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด”ปลัดวธ. กล่าว