พช.รวมพลังภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “ผู้นำจิตอาสา ร่วมพัฒนา เอามื้อสามัคคี” พร้อมจับมือ NBT ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ “โคก หนอง นา พช.” ณ ศูนย์เรียนรู้ “เฮือนฮ่วมแฮง” คุณอัมพร วาภพ ผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิด จ.อุบลราชธานี

วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์เรียนรู้ “เฮือนฮ่วมแฮง” หมู่ที่ 2 ตำบลหนองบัวฮี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน และนักวิชาการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่เยี่ยมเยือนและสนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรม “ผู้นำจิตอาสา ร่วมพัฒนา เอามื้อสามัคคี” ณ ศูนย์เรียนรู้ “เฮือนฮ่วมแฮง” บ้านหนองบัวฮี ตำบลหนองบัวฮี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

โดยมี นายอัมพร วาภพ ผู้จัดการศูนย์เรียนรู้ฯ พร้อมภาคีเครือข่ายงานพัฒนาชุมชนที่สำคัญ เข้าร่วมกิจกรรมและเป็นวิทยากร ได้แก่ ดร.ปะนะชัย คำสิงห์ ท่องเที่ยวกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย อันพิมพ์ รองคณบดีคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คุณอัญญาพร บัวดก ผู้จัดการภาค ไทยประกันชีวิต ผอ.เทิดเกียรติ ทองหล้า ศูนย์สัมมาชีพชุมชนนาดูน อำเภอเขื่องใน นายสมพงษ์ คำศรี ข้าราชการบำนาญและประธานทีม SAVEUBON และนายศักดิ์สิทธิ์ บุญญบาล อดีตประธานและผู้ก่อตั้งทีม SAVEUBON ผู้แทนประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT จังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนพัฒนาการอำเภอ และนักพัฒนาพื่นที่ต้นแบบ (นพต.) อำเภอพิบูลมังสาหาร รวมทั้งสิ้นกว่า 60 คน เข้าร่วมกิจกรรมฯ โดยปฏิบัติตามมาตรการการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาชุมชน “เฮือนฮ่วมแฮง” โดย นายอัมพร วาภพ ในฐานะผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิด จังหวัดอุบลราชธานี ผู้จัดการ หจก.ข้าวโฮยเกลือสตูดิโอ วิสาหกิจเพื่อสังคม ได้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ ขึ้น ในปี พ.ศ.2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีความครอบคลุมในการบริการสังคม ทั้งการจัดอบรม ฐานการเรียนรู้และการศึกษา โดยมีภารกิจสำคัญคือการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กเยาวชน ตลอดจนให้การบริการชุมชนและส่งเสริมการเรียนรู้สัมมาชีพชุมชน บนพื้นที่ 12.5 ไร่ เพื่อการสร้างแรงบัลดาลใจ แลกเปลี่ยนความรู้ และพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับชุมชนและคนรุ่นใหม่ที่สนใจกลับคืนบ้านเกิด โดยมีภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน ขอรับบริการจัดฝึกอบรมให้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

​นับจากปี พ.ศ.2561 ได้มีการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ “เฮือนฮ่วมแฮง” ให้เป็นพื้นที่แบ่งปัน สร้างสรรค์พัฒนาเด็กเยาวชนและผู้ขาดโอกาสทางสังคม ด้วยประสบการณ์เป็นนักกิจกรรมสังคม และการเป็นวิทยากร การบริหารโครงการพัฒนาเด็กเยาวชน และชุมชน ทำให้นายอัมพร วาภพ เป็นหนึ่งในทีมอาสาพัฒนาบ้านเกิด ที่ใช้พลังเครือข่ายที่มีความรู้ ความสามารถทั้งด้านงานช่าง งานเกษตร งานผลิตสื่อ ภูมิปัญญาชุมชน และศิลปะ ร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสาให้กับกลุ่มบุคคล หน่วยงานที่สนใจมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนเป็นที่มาของคำว่า “ฮ่วมแฮง” หรือ “ร่วมแรง” นั่นเอง

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2563 นายอัมพร วาภพ ผู้จัดการศูนย์เรียนรู้ฯ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทีมผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิด ระดับจังหวัด จากนั้น ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบบริเวณศูนย์เรียนรู้ฯ โดยใช้งบประมาณส่วนตัว

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย กิจกรรมเอามื้อสามัคคีตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน และหลักกสิกรรมธรรมชาติ นำโดยวิทยากรจากทีมประธาน SAVEUBON นายสมพงษ์ คำศรี และนายศักดิ์สิทธิ์ บุญญบาล ที่ได้แนะนำการพัฒนาคุณภาพดินตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ การคลุมดินด้วยฟางข้าวเพื่อรักษาความชื้นในช่วงฤดูร้อน การปลูกแฝกคลุมดินป้องกันการชะล้างพังทลาย และการปลูกป่า 5 ระดับ ในพื้นที่เป้าหมาย / การบรรยายหัวข้อการบรรยายและฝึกปฏิบัติในหัวข้อ “การเลี้ยงจิ้งหรีดสร้างรายได้” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย อันพิมพ์ รองคณบดีคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี / การฝึกปฏิบัติทำกระถางจากยางรถยนต์ โดย ผอ.เทิดเกียรติ ทองหล้า ศูนย์สัมมาชีพชุมชนนาดูน อำเภอเขื่องใน / การผลิตสื่อประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT จังหวัดอุบลราชธานี และ หจก.ข้าวโฮยเกลือสตูดิโอ วิสาหกิจเพื่อสังคม ปิดท้ายด้วย นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พบปะเป็นกำลังใจ และมอบแนวทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาศูนย์เรียนรู้ แก่เจ้าของแปลงและผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ในครั้งนี้

​โอกาสนี้ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ปลูกต้นไม้ ห่มดิน และให้คำแนะนำในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ฯ ว่า “จังหวัดอุบลราชธานี ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เป้าหมายการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ถึง 3,960 แปลง จนได้รับสมญานาม จากท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ว่า “อาณาจักรแห่ง โคก หนอง นา”

นอกจากนั้น ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ถือว่าเป็นต้นแบบ และเสียสละในการขับเคลื่อนและขยายผลการดำเนินงานของรัฐบาล และกรมการพัฒนาชุมชน โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ หรือใช้ทุนส่วนตัว อย่างเช่น ศูนย์เรียนรู้ “เฮือนฮ่วมแฮง” ของคุณอัมพร วาภพ แห่งนี้ ขอชื่นชมการดำเนินงานและความมีจิตอาสาในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งในอนาคตพื้นที่แห่งนี้ จะใช้ในการสร้างความเข้มแข็ง เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคม “เฮือนฮ่วมแฮงโมเดล ” แนวคิดในการสร้างพื้นที่ทางกายภาพ “โคก หนอง นา” เป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาชุมชน ให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างกลไกการทำงานจิตอาสา โดยประสานความร่วมมือภาคธุรกิจ สถานประกอบการ รวมถึงบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ที่ดำเนินงานไม่แสวงหากำไร ในการบ่มเพาะ “สัมมาชีพชุมชน”

เพื่อให้คนในชุมชนเกิดคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในงานพัฒนาชุมชน และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ในการสร้างทางรอดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณภาคีเครือข่าย และผู้มีจิตอาสาทุกท่านที่ได้สละเวลามาร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคีในวันนี้ ขอให้ทุกท่านมีความสุข และเป็นกำลังสำคัญในการน้อมนำแนวพระราชดำริ และนโยบายของรัฐบาล ไปสู่การขยายผลในพื้นที่ให้ชุมชนท้องถิ่นของเราเจริญก้าวหน้าต่อไป” นายคมกริช กล่าวด้วยความมุ่งมั่น

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน

ติดต่อศูนย์เรียนรู้ “เฮือนฮ่วมแฮง” ได้ที่ คุณอัมพร วาภพ หมายเลขโทรศัพท์ 083-101-9282