วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นำทีมผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สวมใส่ผ้าไทย ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ตามแนวคิดของจังหวัดระนอง “ผ้าไทยใส่ให้สนุก วันศุกร์ สวมใส่ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ซึ่งเป็นลายผ้าพระราชทาน จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระกรุณาประทานพระอนุญาตแบบลายมัดหมี่ ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน โดยผ้าที่ใช้เป็นผ้าบาติก ย้อมครามผสมน้ำแร่ของจังหวัดระนอง และใช้สีขาววาดลายหรือพิมพ์ลาย ลงบนผ้าเพื่อสร้างความโดดเด่นของผ้า เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดระนอง ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดระนอง
นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างมากที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงให้ความสำคัญและสนใจในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ผ้าไทยให้มีชีวิต สนองพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยไว้ ประกอบกับปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เรื่อง มาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย และชื่นชมกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในการขับเคลื่อนให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า
ซึ่งเป็นรากเหง้าจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ด้วยการส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าพื้นถิ่นไทยให้ดำรงคงอยู่ โดยได้ร่วมเชิญชวนทุกท่านสวมใส่ผ้าลายขอฯ ในทุกวันศุกร์ เป็นการสร้างกระแสให้บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กรเครือข่าย และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะองค์กรสตรีจังหวัดระนอง ผู้นำต้องทำก่อนโดยร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่น และผ้าลายพระราชทานในการทำงาน การร่วมกิจกรรมต่างๆ หรือสวมใส่ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการส่งเสริมผ้าท้องถิ่น เช่น ผ้าบาติก ย้อมครามผสมน้ำแร่ของจังหวัดระนอง และใช้สีขาววาดลายหรือพิมพ์ลาย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาย้อมครามแท้จากระนอง
โดยใช้เทียนเขียนลงบนผืนผ้า ตกแต่งลวดลายธรรมชาติผสมผสานด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น การมัดย้อมด้วยครามแท้ที่ปลูกในภาคใต้ หมักด้วยดินขาวคุณภาพดี ซึ่งเป็นแหล่งเดียวในประเทศไทย ประกอบกับจังหวัดระนองมีแหล่งน้ำแร่ที่มีคุณภาพ ในการนำน้ำเเร่มาเป็นส่วนผสมในการย้อมผ้า จึงเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด ที่ช่วยทำให้สีผ้าไม่ตก เนื้อผ้านุ่ม สวมใส่สบาย เป็นการรังสรรค์ถักทอเรื่องราวให้เป็นไปตามภูมิปัญญาของพื้นถิ่นดึงอัตลักษณ์ศิลปะชุมชนที่มีปลุกกระแสกลุ่มทอผ้าให้คึกคัก สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น มิให้สูญหายไปจากแผ่นดินไทย อีกทั้งยังก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องชาวจังหวัดระนอง
ปัจจุบันจังหวัดระนอง มีจำนวนกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ทอผ้า/ผลิตผ้า จำนวน 13 กลุ่ม/ราย ได้รับมอบลายผ้าพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จำนวน 13 กลุ่ม/ราย ซึ่งกลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ ที่นำลายผ้าพระราชทาน ไปเป็นต้นแบบทอผ้า/ผลิตผ้า จำนวน 8 กลุ่ม/ราย รวมสมาชิกทั้งหมด 85 คน รวมถึงมีการเข้าร่วมสมัครประกวดผ้าลายพระราชทาน จำนวน 5 กลุ่ม/ราย จำนวน 7 ชิ้น แบ่งเป็นประเภทผ้าปักมือ จำนวน 5 ชิ้น, ผ้าบาติก 1 ชิ้น และผ้าพิมพ์ลาย 1 ชิ้น ถือได้ว่าการเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ จะเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักและก่อให้เกิดรายได้กลับเข้าสู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งเป็นการเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทยต่อไป
ระนอง : เมืองรองที่ต้องมา
เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565
change for Good